In Focusเลือกตั้งออสเตรเลียระส่ำ ชะตากรรมการเมืองของดินแดนดาวน์อันเดอร์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 25, 2010 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คอการเมืองต่างประเทศคงได้ทราบกันไปแล้วว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปของรัฐบาลกลางออสเตรเลียเมื่อวันที่เสาร์ที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น พรรคแรงงานของนางจูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และพรรคเสรีนิยมของนายโทนี แอบบอทท์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านนั้น ไม่มีใครได้เสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล โดยการนับคะแนนล่าสุดของเอบีซี ระบุว่า พรรคแรงงานของกิลลาร์ดได้ไป 73 ที่นั่ง ขณะที่ฝ่ายค้านได้ไป 70 ที่นั่ง นั่นหมายความว่าทั้งสองพรรคยังไม่มีใครได้คะแนนเสียงถึง 76 ที่นั่งซึ่งเป็นเสียงข้างมากในสภาล่างที่มี 150 ที่นั่ง ส่งผลให้การเมืองออสเตรเลียในวันนี้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ศัพท์แสงทางการเมืองเขาเรียกว่า "Hung Parliament" หรือภาวะที่ต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งในรัฐสภาเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี

ก่อนที่ศึกวันเลือกตั้งจะมาถึงนั้น ทั้งพรรคแรงงานและพรรคเสรีนิยมต่างก็ทุ่มทั้งแรงเงินและแรงกายในการหาเสียงเพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรคอย่างหนักหน่วง แต่จากประวัติศาสตร์การเมืองของแดนจิงโจ้ทำให้เรารู้ว่า ชาวออสเตรเลียให้ความสำคัญกับนโยบายของพรรคการเมืองมากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับคุณสมบัติประจำตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้ง พวกเขาจริงจังกับเรื่องการเมืองถึงขนาดเปิดเวทีอภิปรายและศึกษานโยบายของพรรคต่างๆ จึงไม่ต้องแปลกใจหากเห็นชาวออสซี่ตั้งวงสนทนาเรื่องการเมืองกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไม่เว้นแม้แต่ในระหว่างมื้ออาหารก็ยังหยิบยกเรื่องการเมืองขึ้นมาถกเถียงกัน ขนาดเด็กวัยรุ่นของเขาก็ยังมองว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว นี่ยังไม่นับบรรดาสื่อมวลชนและนักวิชาการที่ดาหน้ากันเปิดเวทีอภิปรายเรื่องนโยบายพรรคการเมืองอย่างเปิดเผย ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้แทนของแต่ละพรรคการเมืองได้อธิบายตอบข้อซักถามของนักวิชาการและสื่อมวลชนผู้ร่วมอภิปรายอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องในการเลือกผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบายของประเทศ และหากพรรคการเมืองพรรคใดทำการบ้านมาไม่ดี ตอบข้อสงสัยไม่ชัดเจนจนโดนต้อนเข้ามุม ก็อาจต้องเจอกับความอับอายระดับชาติหรือหน้าแตกออนแอร์ได้เหมือนกัน

          เช้าวันจันทร์ที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นและตลาดปริวรรตเงินตราออสเตรเลียดิ่งลงอย่างหนักเพราะนักลงทุนตื่นตระหนกไปกับผลการเลือกตั้งออสเตรเลียที่ออกมาว่า ไม่มีพรรคใดได้ครองเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล นักวิเคราะห์หลายคนกังวลว่าผลการเลือกตั้งในลักษณะ "ตั้งยัน" กันแบบนี้อาจทำให้การเมืองออสเตรเลียตกอยู่ในภาวะชะงักงัน หรืออาจนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ที่ต้องใช้เวลานานหลายเดือน โบรกเกอร์บางรายมองว่า โชคดีที่หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ยังเดินหน้าต่อไปได้ จึงช่วยประคับประคองตลาดหุ้นออสเตรเลียไม่ได้ทรุดหนักเกินไป นั่นก็เพราะมีการเก็งกันว่าพรรคแรงงานอาจจะไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็หมายความว่านโยบายเก็บภาษีจากกำไรของธุรกิจเหมืองแร่ที่พรรคแรงงานเสนอไว้จะถูกยกเลิกไปด้วย แต่เศรษฐกิจของออสเตรเลียไม่ได้อาศัยแค่ความโชคดีของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่อย่างเดียว เพราะหากการเมืองออสเตรเลียยังไร้ทิศทางเช่นนี้ ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียที่ร่วงลงไปแล้วถึง 0.44% ก็ส่อเค้าว่าจะดิ่งเหวแบบไม่ลืมหูลืมตา ซึ่งจะยิ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินอย่างเหลือคณานับ เพราะเศรษฐกิจออสเตรเลียซึ่งมีสมญานามว่า "อัศจรรย์แห่งดาวน์อันเดอร์" ต้องอาศัยอุตสาหกรรมการส่งออกทรัพยากรและแร่ธาตุเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ดังนั้นหากค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียถลำลึกลงไปกว่านี้ ก็ไม่ต้องเดาเลยว่าอุตสาหกรรมส่งออกที่ทรุดฮวบลงจะลากเศรษฐกิจให้ถอยร่นลงไปมากเพียงใด
          ฮีทเธอร์ รี้ดเอาท์ หัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมออสเตรเลีย กล่าวว่า การที่ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก ถือเป็นผลลัพธ์ที่น่าวิตกกังวลสำหรับภาคธุรกิจ เพราะการเมืองที่ไร้เสถียรภาพย่อมส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งที่ไม่ทราบตัวผู้ชนะแน่ชัด ยังเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ไม่แน่นอนอีกด้วย
          ขณะที่ เชน โอลิเวอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งเอเอ็มพีแคปิตอลอินเวสต์เตอร์กล่าวว่า โดยปกติแล้วนักลงทุนไม่ชอบความไม่แน่นอน สถานการณ์การเมืองที่ไร้ทิศทางของออสเตรเลียงเป็นปัจจัยลบต่อสำหรับตลาดการเงิน และฉุดรั้งตลาดดิ่งเหวลงมากกว่าที่คิด

ออสเตรเลีย หรือชื่อที่เป็นทางการว่า เครือรัฐออสเตรเลีย (Commonwealth of Australia) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2444 มีระบบการปกครองที่แบ่งออกเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารอยู่ภายใต้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งอังกฤษ มีคณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรผู้บริหาร และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ มีรัฐสภาอันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (มี 150 ที่นั่ง) และวุฒิสภา (มี 76 ที่นั่ง) มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดและครึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาทุกๆ 3 ปี การออกพระราชบัญญัติทุกฉบับต้องผ่านการเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา และประชาชนที่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ต้องมีอายุครบ 18 ปีขึ้นไป

ออสเตรเลียมีพรรคการเมืองใหญ่ๆ 3 พรรค ได้แก่ พรรคแรงงาน (Australian Labor Party) พรรคเสรีนิยม (Liberal Party of Australia) และพรรคเนชันแนล ปาร์ตี้ ออฟ ออสเตรเลีย ( National Party of Australia) นอกจากนี้ ยังมีพรรคเล็กที่ประกอบไปด้วย พรรค Australian Greens พรรค Family First Party พรรค Australian Democrats พรรค One Nation Party และยังมีพรรคชื่อแปลกอีกคือ พรรค Australian Sex Party (พรรค SEX แห่งออสเตรเลีย)

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2550 พรรคแรงงานภายใต้การนำของนายเควิน รัดด์ ในสมัยนั้น ชนะการเลือกตั้งทั่วไปด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 55.33 และได้จัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคเสรีนิยม และพรรคเนชันแนลเป็นพรรคฝ่ายค้าน ความศรัทธาที่ชาวออสเตรเลียมีต่อพรรคแรงงานได้หนุนเนื่องให้นายรัดด์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะชาวออสซี่ตั้งความหวังว่านายรัดด์จะต้องเก่งเรื่องต่างประเทศ เพราะพูดภาษาจีนได้ดีมาก แต่นายรัดด์เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง 2 ปี ก็ต้องเสียตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงานให้กับนางกิลลาร์ด และเพียงชั่วข้ามคืนนางกิลลาร์ดก็ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของออสเตรเลีย ซึ่งหลังจากนั้นไม่ถึง 2 เดือน กิลลาร์ดก็ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันเสาร์ที่ 21 ส.ค. 2553

แต่ผลการเลือกตั้งที่ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ทั้งนางกิลลาร์ดและนายแอบบอทท์ ต้องหันหน้าเจรจากับส.ส.อิสระ รวมถึงนายบ็อบ แคตเตอร์ นายโทนี วินด์เซอร์ และนายร็อบ โอคชอตต์ และกับพรรคกรีน เพื่อโน้มน้าวให้เข้ามาร่วมวงจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายตน เพราะพรรคกรีนได้ที่นั่งเพิ่มจาก 5 เป็น 9 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้กลายเป็นปัจจัยตัดสินว่าพรรคใดจะได้ครองที่นั่งในสภาสูง

หากพลิกดูประวัติศาสตร์การเมืองของออสเตรเลียจะพบว่า ไม่เคยมีรัฐบาลใดที่ต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนของสมาชิกผู้สมัครอิสระ มาตั้งแต่ปี 2486 แต่การเมืองออสเตรเลียซึ่งมีเสถียรภาพมาตลอด ต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีความรู้สึกไม่ไว้วางใจในนโยบายของทั้งพรรคแรงงานและพรรคเสรีนิยม ที่หนักหนาสาหัสก็เห็นจะเป็นเมื่อครั้งที่เกิดการก่อหวอดกันในพรรคแรงงาน และโค่นนายเควิน รัดด์ ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้มีสิทธิออกเสียง 14 ล้านคนที่ได้เห็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องหลุดจากเก้าอี้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ชาวออสเตรเลียกลุ่มใหญ่ที่ยึดถือขนบธรรมเนียมการเลือกตั้งอย่างเหนียวแน่น จะมองว่า นางกิลลาร์ดเป็นเพียงผู้นำพรรคแรงงานและนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

หันมาดูนโยบายของพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้กันบ้าง ก่อนที่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะเปิดฉากขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนางกิลลาร์ดและนายแอบบอทท์ ต่างทุ่มเทหาเสียงกันอย่างไม่หยุดหย่อน โดยพรรคแรงงานชูประเด็นลดภาวะโลกร้อนด้วยการใช้นโยบายเก็บภาษีอุตสาหกรรมเหมืองแร่เหล็กและถ่านหินในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อบีบให้ลดการขุดแร่เหล็กและถ่านหินลง ในขณะที่พรรคเสรีนิยมต้องการส่งเสริมการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และถ่านหินเพราะเห็นว่าออสเตรเลียส่งออกแร่เหล็กและถ่านหินเป็นรายได้หลัก ที่น่าสังเกตก็คือทั้งพรรคแรงงานและพรรคเสรีนิยมต่างหาเสียงในเชิงอนุรักษ์ ด้วยการเน้นนโยบายการเงินและให้คำมั่นว่าจะทำดุลงบประมาณให้เกินดุลภายใน 3 ปี แต่การหาเสียงของกิลลาร์ดถูกบดบังด้วยความโกรธแค้นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีต่อเหตุการณ์เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสมาชิกพรรคแรงงานก่อกบฏต่อนายเควิน รัดด์ ผู้นำพรรคแรงงานที่ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายเมื่อปี 2550 จนเป็นเหตุให้นายรัดด์ถูกเขี่ยพ้นเก้าอี้

ส่วนนโยบายเด่นๆของพรรคเล็กพรรคน้อยที่โดดลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งได้แก่พรรคกรีนที่ชูนโยบายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไม่ต่างไปจากพรรคแรงงาน จึงทำให้ภาคธุรกิจวิตกกังวลว่า หากพรรคกรีนจับมือกับพรรคแรงงานได้สำเร็จ ก็อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจเหมือนแร่และพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีพรรค Family First Party และพรรค Australian Sex Party ที่ลงทะเบียนเป็นไม้ประดับและสร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย โดยทั้งสองพรรคมีนโยบายที่โลดโผนคือสนับสนุนให้การค้าประเวณีเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย โดยเฉพาะพรรค Sex ที่นำเสนอนโยบายแบบไม่อ้อมค้อมคือลดการเซ็นเซอร์ในทุกรูปแบบ จึงไม่แปลกที่กลุ่ม Eros Association ซึ่งเป็นผู้ค้าและผู้ผลิตสินค้าทางเพศจะสนับสนุนพรรค Sex และพรรค Family First Party อย่างสุดตัว

          นักกฎหมายรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียวิเคราะห์ว่า หากท้ายที่สุดแล้วไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก หนทางข้างหน้าก็อาจจะเป็นในรูปแบบที่ว่านางกิลลาร์ดจะใช้สิทธิในการเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาก่อน ไม่ว่าพรรคแรงงานของเธอจะได้ที่นั่งมากกว่าพรรคเสรีนิยมหรือไม่ก็ตาม ขั้นตอนแรกตามรัฐธรรมนูญก็คือ กิลลาร์ดจะต้องเข้าพบผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีอังกฤษ พร้อมกับแจ้งความจำนงว่าพรรคแรงงานจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และทันทีที่รัฐบาลใหม่สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ก็จะมีการจัดประชุมสภาโดยเร็วเพื่อพิจารณาว่ารัฐบาลใหม่มีเสียงข้างมากในสภาล่างมากพอที่จะทำงานได้หรือไม่
          จากนั้น ฝ่ายค้านจะยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อทดสอบเสียงสนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา ซึ่งการที่จะรอดมติไม่ไว้วางใจนั้นกิลลาร์ดจะต้องทำข้อตกลงกับส.ส.อิสระหรือพรรคกรีน ให้ได้เสียงมากพอจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงคำมั่นสัญญาจากส.ส.อิสระ หรือพรรคกรีนว่า จะยกมือสนับสนุนงบประมาณประจำปี ซึ่งนักกฎหมายรัฐธรรมนูญมองว่า กระบวนการดังกล่าวอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ เพราะทั้งพรรคแรงงาน และพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งประกอบด้วยพรรคเสรีนิยมและพรรคเนชันแนล ต่างก็ต้องแข่งกันดึงส.ส.อิสระและพรรคกรีน เพื่อรวบรวมเสียงให้ได้มากกว่าอีกฝ่าย

          นักเศรษฐศาสตร์กังวลว่า การเลือกตั้งที่อึมครึมเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน โดยคาดว่าค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียและตลาดหลักทรัพย์จะดิ่งลงอีก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของออสเตรเลียซึ่งขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมเหมืองแร่และเป็นดาวเด่นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น กระทบกระเทือนทั้งระบบ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่า สายป่านของออสเตรเลียยังมีอีกยาวไกล เพราะออสเตรเลียมีทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานจำนวนมาก โดยมีแร่ตะกั่วประมาณร้อยละ 13 ของโลก แร่เหล็กร้อยละ 12 แร่อลูมิเนียมร้อยละ 11 และแร่สังกะสีร้อยละ 10 นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังมีแร่ยูเรเนียมร้อยละ 30 ของโลก ซึ่งมากโขพอที่จะรองรับผลกระทบจากการเมืองอันยุ่งเหยิงนี้ไปได้อีกระยะหนึ่ง

          ในอีกมุมของการเมืองออสเตรเลียก็มีสีสันที่น่าสนใจไม่น้อย นั่นคือ ชาวออสเตรเลียกลุ่มอินดี้บางกลุ่มเลือกที่จะใช้ประเด็นการทำแท้งมาวัดทัศนคติของนักการเมือง ด้วยการให้นักการเมืองเลือกว่าจะโหวตไปในทิศทางใดระหว่าง pro life หรือ pro choice ซึ่ง pro life ก็คือการสนับสนุนไม่ให้มีการทำแท้งอย่างเด็ดขาด และ pro choice ซึ่งมองว่าผู้หญิงมีความเชื่อในเรื่องร่างกายของตนเอง หากอยากจะทำแท้งก็เป็นเรื่องของเธอเอง ไม่เกี่ยวกับใคร
          ในเรื่องนี้นางกิลลาร์ดประกาศต่อสาธารณะว่า เธอเป็นฝ่าย pro choice ขณะที่นายแอบบอทท์ประกาศว่า เขาสนับสนุนฝ่าย pro life ท่าทีขึงขังของนายแอบบอทท์ทำให้ผู้หญิงออสเตรเลียยุคใหม่กลัวว่าหากแอบบอทท์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็คงจะไม่ยอมให้งบประมาณแก่โรงพยาบาลที่จะนำไปใช้ในการทำแท้ง... ซึ่งก็เป็นวิธีการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองที่ค่อนข้างแปลก แต่จะว่าไปแล้ว หัวหน้าพรรคแต่ละคนก็ออกจะแปลกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นนางกิลลาร์ดที่ประกาศว่าตนเองไม่มีศาสนาและไม่ยึดมั่นในการแต่งงานกับคนรัก ขณะที่นายแอบบอทท์กลับฝักใฝ่ในศาสนาอย่างเอาเป็นเอาตาย และนายโรเบิร์ต บราวน์ หัวหน้าพรรคกรีนที่ประกาศตัวอย่างเปิดเผยว่า “ผมเป็นเกย์" และจะสนับสนุนการแต่งงานของกลุ่มผู้นิยมรักร่วมเพศ

          คงต้องรอดูกันต่อไปว่า การเมืองออสเตรเลียในวันข้างหน้าจะออกหัวหรือก้อย พรรคไหนจะได้เสียงข้างมากและได้จัดตั้งรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาฟันธงกันแต่เนิ่นๆว่า พรรคเสรีนิยมของนายแอบบอทท์ส่อแววว่าจะคว้าชัยในการฟอร์มรัฐบาล แต่ก็มีอีกหลายคนมองว่า เมื่อดูจากการให้สัมภาษณ์ของกิลลาร์ดในนิตยสาร "Women's Weekly" ฉบับล่าสุดแล้ว ก็อาจทำให้เธอได้คะแนนนิยมไปจมหูจากกลุ่ม feminist หรือกลุ่มสนับสนุนสิทธิสตรี การแสดงออกของกิลลาร์ดในระหว่างการถ่ายแบบและให้สัมภาษณ์กับ Women's Weekly ในวันนั้น สร้างความประทับใจให้กลุ่ม feminist อย่างมาก เพราะปกติแล้วด้วยเวลาที่กระชั้นชิดชนิดจ่อคอหอยมักทำให้นักการเมืองส่วนใหญ่แสดงวิสัยทัศน์ทางการเมืองกันแบบฮาร์ดคอร์ แต่กิลลาร์ดเลือกให้สัมภาษณ์สบายๆ เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว คนรัก และบทบาทการเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก
          ... เธอพูดอย่างอารมณ์ดีว่า เธอไม่ใช่พวกต่อต้านสถาบันครอบครัว การไม่แต่งงานเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่หลอมรวมเป็นตัวเธอในวันนี้ แต่เธอไม่ต้องการเป็นไอดอลของผู้หญิงออสเตรเลีย เพราะชีวิตของใครก็เป็นของคนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะเลียนแบบกันได้ และการไม่แต่งงานจึงไม่ใช่เยี่ยงอย่างสำหรับใคร ... แปลกแต่คม จนนักการเมืองอาวุโสบางคนอดไม่ได้ที่จะแสดงความเห็นว่า การให้สัมภาษณ์ของกิลลาร์ดในวันนั้น เป็นการจุดกระแสให้มีการใช้นิตยสารผู้หญิง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักการเมืองหญิงที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเอง

          ไม่ว่าภาพลักษณ์ของใครหรือพรรคใดจะออกมาในรูปแบบไหน สิ่งที่ทำได้ในเวลานี้คือรอดูว่าเส้นทางการเมืองของดินแดนดาวน์อันเดอร์จะออกมาในทิศทางใด และการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ไม่แน่ว่า คนหัวใสในออสเตรเลียอาจจะใช้บริการจระเข้น้ำเค็ม "แฮร์รี่" และปลาหมึก "แคสแซนดร้า" ให้ออกมาทำนายผลการเลือกตั้งอีก เพื่อดูว่า ใครจะอยู่ ใครจะไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ