นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เผยเตรียมนัดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 31 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาประเด็นร้อนเกี่ยวกับกรอบการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ของประเทศด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน รวมถึงกรอบบันทึกข้อตกลงด้านเขตแดนไทยกัมพูชา ที่ค้างพิจารณาอยู่
"ขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะบรรจุเข้าสู่การประชุมมร่วมรัฐสภาในวันอังคารที่ 31 สิงหาคมนี้ รวมถึงกรอบบันทึกข้อตกลงด้านเขตแดนไทยกัมพูชาที่ค้างพิจารณาอยู่ก็จะนำเข้าสภาฯ ด้วย เพื่อดูความเห็นจากสมาชิกว่าจะถอนหรือไม่ถอนอย่างไร โดยต้องฟังความเห็นของฝ่ายที่ออกมาคัดค้านด้วยเพราะเป็นอำนาจของสภา ผมไม่มีอำนาจพิจารณาได้ แต่ต้องประสานกับประธาวุฒิสภาว่าจะดำเนินการได้เลยหรือไม่" นายชัย กล่าว
ทั้งนี้ ตนเองได้สั่งการให้คณะกรรมการประสานงาน(วิป) ทั้ง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ไปศึกษาหารือกันก่อน
ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 หลังผ่านยความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขั้นตอนต่อไปตนเองจะส่งต่อไปให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ แต่ไม่สามารถแก้ไขในรายละเอียดได้ โดยมีกำหนดเวลาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน
สำหรับภาพรวมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ใช้เวลายาวนานกว่าปกตินั้น นายชัย กล่าวว่า สภาฯ ก็เป็นอย่างนี้ เป็นละครของโลก เป็นละครโรงใหญ่ อยู่ที่บทบาทของแต่ละพรรคว่าจะให้แสดงหรือวางจุดยืนอย่างไร เป็นธรรมดาของ ส.ส.
"ขนาดทหารอยู่ในแถวก็ยังไม่ตรงกันเลย ก็ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในรอบปี แต่เราก็เห็นใจฝ่ายค้านที่เขาต้องไปเกลี่ยเวลาให้ ส.ส.ทั้ง 180 คนได้อภิปราย" นายชัย กล่าว
นายชัย กล่าวอีกว่า ดูจากเสียงโหวตสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แล้วเชื่อว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพ
"ก็ดูเอาเองว่าเสียงโหวตให้ผ่านแน่นไหม 256 เสียง ไม่ใช่น้อย อยู่ไปอีก 5 ปีก็ได้ จากนี้ต่อไปสภาฯ ก็ต้องอยู่เพื่อควบคุมการบริหารงบประมาณของรัฐบาล" นายชัย กล่าว
ส่วนการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) คนใหม่นั้น นายชัย กล่าวว่า ในวันที่ 1 ก.ย.นี้จะนำเรื่องที่ค้างการพิจารณาเสนอให้ที่ประชุมฯ พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งรวมถึงร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งยังมีปัญหาอยู่ เนื่องจากที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อให้สภาฯ พิจารณาว่าจะรับหรือให้ตกไป หากรับตามที่วุฒิสภาเสนอก็นำเข้าสู่ขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่หากไม่รับก็ถือว่าตกไป แต่ก็ยังมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินปี 2542 บังคับใช้อยู่ ซึ่งสามารถดำเนินการสรรหาผู้ว่าการ สตง.ได้
นายชัย กล่าวว่า ปัญหานี้คนใน สตง.จะต้องไปแก้ไขกันเอง ซึ่งส่วนตัวเชื่อถือในความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับรัฐบาล ที่ผ่านมาการพิจารณากฎหมายทุกฉบับก็ต้องมีตัวแทนของคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาร่วมทั้งนั้น
ส่วนกรณีที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ไม่รับฟังความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ยึดถือตามคำสั่ง คปค.นั้น นายชัย กล่าวว่า คุณหญิงจารุวรรณก็คงเชื่อ ส.ว.บางท่าน ก็เป็นเรื่องของท่าน แต่ปัญหาเรื่องนี้จะจบลงได้ก็อยู่ที่ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา ทราบว่าขณะนี้มี ส.ว.บางท่านส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการต่อไป ปัญหาทุกเรื่องจะจบได้ก็ด้วยกระบวนการยุติธรรม