นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวในที่ประชุมวุฒิสภาว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยตำแหน่ง ควรมีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับระบบทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกา ปรับระเบียบวิธีการรับเรื่องวินิจฉัย ที่สำคัญที่สุดปรับระบบการแถลงข่าว หรือการนำปัญญาไปสู่ประชาชน และท้ายที่สุดอาจปรับที่มาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่ละคณะ เนื่องจากการให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ผ่านมา เมื่อเป็นข่าวออกมาแล้วทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับประชาชน ทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็นแค่ความเห็นทางกฎหมาย ไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาด และกฤษฎีกาจะตอบเท่าที่ถามไปเท่านั้น ดังนั้นคำถามที่ยื่นไปจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยกฤษฏีกาจะตอบในอำนาจหน้าที่ของตนเองจะไม่ก้าวล่วงองค์กรอื่น โดยเฉพาะที่เป็นปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูคำถามที่คณะรัฐมนตรีเคยถาม เช่น ประเด็นที่นายกฯมีความเห็นว่ามติของ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ขัดกับมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป. ช.) จะขอมติครม.เพื่อนำส่งศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ไม่ได้ถามให้ชี้ขาดว่าต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใด