นายกฯ รณรงค์นำปรัชญาพอเพียงเป็นแนวทางแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

ข่าวการเมือง Friday September 3, 2010 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม"รวมพลังเครือข่ายประชาชนป้องกันการทุจริต" ตามโครงการประชาศึกษาและชุมชนสัมพันธ์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) และปาฐกถาพิเศษว่า สภาวะปัจจุบันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นถือเป็นปัญหาใหญ่ และแม้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีความพยายามในการที่จะสร้างกลไกต่าง ๆ ในทุกระดับก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าสภาพปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบันยังอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างรุนแรง

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของบ้านเมือง บ่งชี้ชัดว่า การทุจริตไม่ได้เกิดจากการขาดแคลน หรือไม่มี แต่เกิดจากการไม่รู้จักพอ เรามีตัวอย่างของคนยากจน แต่แสดงออกถึงการสุจริต เช่น แท็กซี่ที่เก็บเงินของผู้โดยสารได้ และคืนให้ แต่ในทางตรงกันข้าม เราเห็นคนทุจริตคอร์รัปชั่นมากมาย ที่ไม่ได้ขาดแคลน ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนรู้จักพอ และขอให้คนไทยน้อมนำปรัชญาพอเพียงเป็นสิ่งนำทาง"นายกรัฐมนตรี กล่าว

ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมา แต่ส่วนใหญ่จะเน้นการให้ความสำคัญกับการรณรงค์เพื่อสร้างค่านิยม จิตสำนึก หรือปลุกกระแสให้เกิดความตื่นตัว จึงทำให้การแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นลักษณะของการรณรงค์ที่เป็นนามธรรมมากกว่าการนำไปปฏิบัติจริง

ทั้งนี้ การระดมพลังของประชาชนเพื่อสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน ในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งถือเป็นปัญหาที่เรื้อรังและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบั่นทอนศักยภาพของประเทศชาติ บ้านเมือง และส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ถือว่ามีความสำคัญ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การที่จะรณรงค์ให้ได้ผลนั้น มี 4 ประการคือ จะต้องทำให้ประชาชนเห็นถึงรูปธรรมของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือรูปธรรมความดีงามของการมีสังคมที่มีความซื่อสัตย์สุจริต และสามารถที่จะเชื่อมโยงให้เกิดความเข้าใจ และทำให้ประชาชนมองเห็นถึงความเชื่อมโยงกับการปฏิบัติจริงในชีวิตจริงให้มากที่สุด

และ การรณรงค์จะต้องสามารถทำให้คนมองเห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวม และแยกแยะผลประโยชน์สถานะ หรือความสำคัญส่วนตัวออกจากการทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือส่วนหนึ่งของพลเมืองด้วย

นอกจากนี้ อย่ามองว่าเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง ต้องมองว่าเป็นเรื่องของส่วนรวม และที่สำคัญภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการทำหน้าที่คุ้มครองพยาน หรือบุคคลที่ให้เบาะแสที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า บุคคลเหล่านี้จะไม่ถูกผู้มีอิทธิพลข่มขู่หรือถูกทำร้าย และต้องรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการรู้จักพอ เพราะถือเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากความโลภและการไม่รู้จักพอของคนในสังคม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ