นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมโดยมีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 54 ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 2.07 ล้านล้านบาท ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบแล้ว โดยวุฒิสภาต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ 25 ส.ค.53 ตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 168 วรรคสาม ซึ่งจะครบกำหนดการพิจารณาในวันที่ 13 ก.ย.53
ทั้งนี้นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 54 วุฒิสภา รายงานว่างบประมาณรายจ่ายปี 54 ตั้งไว้ 2.07 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 1,662,604.2 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 30,346.1 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 334,495.1 ล้านบาท รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 32,554.6 ล้านบาท
สภาผู้แทนราษฎรปรับลด 33,449,343,100 บาท จัดสรรเพิ่มโดยครม.เสนอ 32,844,484,100 บาท หน่วยงานเสนอกมธ.วิสามัญพิจารณางบฯ ของสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง 604,859,000 บาท รวมปรับเพิ่มเท่ากับจำนวนปรับลด และมีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ 649,528,100 บาท
นายพิเชต กล่าวว่า กมธ.พิจารณาแล้วมีข้อสังเกต 2 ส่วน คือ 1.นโยบายและภาพรวมการจัดทำงบประมาณ และ 2.การจัดสรรงบประมาณจำแนกตามกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ มีประเด็นสำคัญ เช่น การจัดทำงบปี 54 เป็นแบบขาดดุล โดยต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 4.2 แสนล้านบาท ทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อผลติภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มจากร้อยละ 42 เป็น ร้อยละ 52 ซึ่งแม้ว่าจะไม่ยังไม่เต็มเพดานเงินกู้ที่ร้อยละ 60 แต่ถ้าอัตรานี้เพิ่มขึ้นทุกปี อาจมีปัญหาในการจัดทำงบประมาณในปีต่อๆไป จึงควรให้กระทรวงการคลังพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศอย่างจริงจัง และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการจัดเก็บภาษีเพื่อลดการพึ่งพาเงินกู้และให้งบประมาณเข้าสู่สมดุลโดยเร็ว
นอกจากนี้ รัฐบาลควรปรับปรุงโครงสร้างสัมปทานจากทรัพยากรธรรมชาติในอัตราที่เหมาะสม โดยเฉพาะจากน้ำมัน,ก๊าซธรรมชาติ แร่ โดยปี 54 มีรายได้จากส่วนนี้เพียง 3.78 หมื่นล้านบาทจากรายได้ 1.65 ล้านล้านบาท ซึ่งหากมีการปรับปรุงค่าสัมปทานจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่า
นายพิเชต กล่าวด้วยว่า จะต้องลดความซ้ำซ้อนของงานภาครัฐ ปรับปรุงโครงการให้มีความเหมาะสม เช่น โครงการใน 3 จังหวัดภาคใต้, การจัดทำแผนให้สอดคล้องกับศักยภาพของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด, การใช้กลไกงบประมาณดูแลโครงการของรัฐที่มีผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัดซึ่งรวมไปถึงโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งแก่รากหญ้า พบว่าการจัดสรรงบยังมิได้จัดสรรเพื่อตอบสนองแนวนโยบายดังกล่าว แต่ไปมุ่งเน้นพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยมุ่งหวังว่าหากเศรษฐกิจดีแล้วรากหญ้าจะดีไปด้วย ซึ่งกมธ.เห็นว่าไม่มีหลักประกันใดที่จะเป็นเช่นนั้น จึงควรกำหนดยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นสู่รากหญ้าเป็นหลัก และพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยบูรณาการร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่นโดยทำแผนอย่างเป็นระบบเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ของเมืองและชนบท
ด้านนายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธุ์ ส.ว.ขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาการโกงกินในรัฐบาลชุดนี้สามารถสัมผัสได้ และมองว่าคนที่ทำกำลังได้ใจ เพราะมีนายกรัฐมนตรีที่ใสสะอาดคอยคุ้มครองอยู่ แต่ก็เห็นใจเพราะนายกรัฐมนตรีต้องมีพรรคร่วมรัฐบาลคอยค้ำให้อยู่ในตำแหน่งได้
นอกจากนี้ หากพิจารณาผ่านการจัดสรรงบปีนี้พบว่ากระทรวงกลาโหมได้รับ 1.68 แสนล้านบาท ถือว่ามากเป็นอันดับต้น เหมือนเอาใจกองทัพที่คอยช่วยเหลือในช่วงการชุมนุมที่ผ่านมา ส่วนกระทรวงมหาดไทยก็เช่นกันได้รับจัดสรร 2.3 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันมีข่าวเรื่องงบกระจุกตัวในบางพื้น และข่าวการซื้อตัวส.ส.เข้าพรรคที่ดูแลกระทรวงนี้อยู่พอดี จึงน่าสงสัยว่าการจัดสรรงบปีนี้เหมือนเป็นงบที่จัดสรรเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งทั้งเรื่องการปล่อยปละและการจัดสรรงบสะท้อนว่ากฎเหล็ก 9 ข้อของนายกรัฐมนตรีกำลังกลายเป็นสนิมเหล็ก
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เรื่องกฎเหล็กนั้น ได้เคยพูดชัดเจนกับคณะรัฐมนตรีว่า จะให้ความสำคัญกับรัฐสภา และสิ่งที่ปรากฏคือ รัฐบาลมาตอบกระทู้ถาม มาฟังคำแนะนำของสภาไม่น้อยกว่ารัฐบาลอื่นแน่ ส่วนที่บอกว่ามีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นนั้น ขอยืนยันว่าได้กำชับและดูแลเป็นอย่างดี ไม่ได้เอาใจใครเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในตำแหน่ง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ถึงเวลาที่เหมาะสมจะเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตนก็ไม่ปฏิเสธ