การเลือกตั้งของออสเตรเลียได้ผ่านพ้นไปแล้ว 17 วัน ขณะที่ผลการเลือกตั้งก็ได้ชี้ชัดแล้วว่า ชัยชนะตกเป็นของพรรคแรงงาน แม้ว่าชัยชนะดังกล่าวจะไม่ได้นำมาซึ่งความชัดเจนและเสถียรภาพเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศในอนาคตของออสเตรเลียก็ตาม
ไฮไลท์ของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของออสเตรเลียนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องบริการในชนบทและภูมิภาคต่างๆของออสเตรเลีย ขณะที่นโยบายต่างประเทศของออสเตรเลียไม่ได้ถูกนำมาถกเป็นประเด็นใหญ่เท่าไรนักในระหว่างที่มีการหาเสียงสนับสนุน
ศาสตราจารย์จอห์น วอร์เฮิร์สท์ จากมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชั่นแนล กล่าวให้สัมภาษณ์กับเวียนนา หม่า สำนักข่าวซินหัวว่า รัฐบาลเสียงข้างน้อยอาจจะชี้ให้เห็นว่า ออสเตรเลียกำลังจะมีบรรยากาศทางการทูตที่ซึมเซา เนื่องจากนโยภายภายในประเทศต้องการการบริหารงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงมากกว่า
ทางด้านดร.แกรม ออร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเลือกตั้งจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ และผู้เขียนหนังสื่อเรื่อง "The Law of Politics" เชื่อว่า นโยบายต่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปขณะที่รัฐบาลชุดใหม่ของออสเตรเลียตกอยู่ภายใต้การดูแลของพรรคแรงงานและพรรคกรีนส์ โดยเขาชี้ว่า ความสัมพันธ์ของพรรคแรงงานและกรีนส์นั้น อาจจะทำให้นโยบายบางเรื่องเบาลง เช่น การจัดการกับกลุ่มผู้ลี้ภัย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พรรคแรงงานและพรรคกรีนส์ได้ลงนามเห็นชอบให้พรรคกรีนส์เป็นอีกพรรคที่จะได้มีส่วนร่วมในการเมืองของออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นการดำเนินการเพื่อสร้างสมดุลของอำนาจในรัฐสภา
ขณะที่รัสเซล ทรูด นักวิเคราะห์อาวุโสกิจการต่างประเทศของนสพ.ดิ ออสเตรเลียน กล่าวว่า อย่างที่รู้กันว่า พรรคแรงงานมาจากดาวศุกร์ ขณะที่พรรคกรีนส์มาจากดาวอังคาร โดยความแตกต่างทางความคิดเห็นของพรรคกรีนส์และพรรคแรงงานในเรื่องนโยบายต่างประเทศและกลาโหมนั้น เรียกได้ว่าแตกต่างกันมากทีเดียว ซึ่งอาจจะทำให้การนำนโยบายต่างประเทศของออสเตรเลียมาใช้ขาดเสถียรภาพ และอาจส่งผลต่อความสามารถของออสเตรเลียในการแสดงบทบาทของผู้มีส่วนร่วมในกิจการระหว่างประเทศอย่างสร้างสรรค์
สำหรับความมุ่งมั่นของออสเตรเลียที่มีต่ออัฟกานิสถานนั้น พรรคกรีนส์ได้เรียกร้องให้มีการถอนกองกำลังทหารของออสเตรเลียออกจากอัฟกานิสถานทันที ขณะที่พรรคแรงงานส่งกองกำลังทหารไปประจำการในช่วงที่พรรคยังทำหน้าที่รัฐบาล และตั้งใจที่จะใช้นโยบายดังกล่าวต่อไป
นักวิเคราะห์ของดิ ออสเตรเลียน กล่าวต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วจะมีปัญหาที่ยุ่งเหยิงกับพรรคกรีนส์ในเรื่องของนโยบายต่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนอุดมการณ์มากกว่าหลักการของเหตุผลเพื่อประโยชน์ของประเทศ นโยบายเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่การรับประกันว่า ออสเตรเลียจะมีสิทธิมีเสียงในต่างประเทศเท่านั้น ขณะที่เราอาจจะต้องเสียสละความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดไป ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่ออสเตรเลียกำลังเผชิญอยู่ โดยดูเหมือนว่าพรรคกรีนส์จะมีอิทธิพลในด้านลบต่อนโยบายต่างประเทศของพรรคแรงงาน
ในทางตรงกันข้าม นโยบายการจัดเก็บภาษีเหมืองที่ได้มีการนำเสนอมาก่อนหน้านี้ ยังคงขาดความชัดเจน หลังจากที่ออสเตรเลียตกอยู่ในสภาพของ "Hung Parliament" หรือภาวะที่ต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งในรัฐสภาครั้งใหม่ ซึ่งพรรคแรงงานต้องแบ่งปันอำนาจกับพรรคกรีนส์และส.ส.อิสระ
พรรคกรีนส์เองต้องการให้มีการจัดเก็บภาษีการทำเหมืองสูงกว่านี้ ขณะที่ส.ส.อิสระจากภูมิภาคต่างๆ และพรรคเสรีนิยม ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ต้องการให้ยกเลิกนโยบายการจัดเก็บภาษีการทำเหมือง
แอนดรูว์ พีเพิล นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ กล่าวว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายภาษีจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่พอใจ รวมทั้งบริษัทต่างๆที่ต้องการความแน่นอนเกี่ยวกับกลไกในการจัดเก็บภาษีระยะยาว
แม้ว่านโยบายการจัดเก็บภาษีอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดการลงทุนของออสเตรเลีย แต่นักวิเคราะห์ก็เชื่อว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคแรงงานจะสามารถกระชับความสัมพันธ์กับจีนได้
จูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะให้นายเควิน รัดด์ อดีตนายกฯเข้ามามีบทบาทในคณะรัฐมนตรี หากพรรคแรงงานได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และก็มีการคาดการณ์ในวงกว้างว่า รัดด์ จะได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ
รัดด์ ซึ่งสามารถพูดภาษาจีนกลาง และได้สร้างชื่อให้กับออสเตรเลียในเวทีต่างประเทศระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและออสเตรเลียถือเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี
ทางด้านดร.ซาเรห์ กาซาเรียน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอาวุโสจากมหาวิทยาลัยโมนาช กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่จะยังคงต้องใช้นโยบายของรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการพัฒนาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และกลาโหมกับประเทศต่างๆในภูมิภาค โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับจีน
ดร.ซาเรห์กล่าวว่า จริงๆแล้ว พรรคใหญ่ๆในออสเตรเลียต่างก็แสดงความต้องการที่จะกระชับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น ซึ่งเขาก็เชื่อว่า รัฐบาลชุดใหม่จะเดินหน้าไปตามแนวทางข้างต้น