"นาโอโตะ คัง...คว้าชัยในศึกเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น" ประโยคดังกล่าวคือข่าวพาดหัวที่ถูกจั่วอยู่ในสื่อแทบทุกสำนัก หลังจากที่เสียงส่วนใหญ่จากสมาชิกรัฐสภาสนับสนุนให้นายนาโอโตะ คัง นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น หรือดีพีเจ (Democratic Party of Japan: DPJ) ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 61 แห่งประเทศญี่ปุ่นต่อไป
ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคดีพีเจเมื่อวานนี้ (14 ก.ย.) เปรียบเสมือนสัญญาณทางการเมืองที่ย้ำเตือนว่า บารมีของนาโอโตะ คัง นักการเมืองสายเลือดซามูไรวัย 63 ปีผู้นี้สามารถบดขยี้รัศมีของนายอิจิโร่ โอซาว่า นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลเจ้าของฉายา "ชาโดว์ โชกุน" หรือ "โชกุนเงา" ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยคะแนนสนับสนุนขาดลอย 721 ต่อ 491 เสียง นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งที่ออกมายังสอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของลูกหลานพระอาทิตย์ส่วนใหญ่ที่กว่า 65% ต้องการให้นายนาโอโตะ คัง เป็นผู้นำประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีตามเดิม
นาโอโตะ คัง...นักรบซามูไร ในสมรภูมิการเมือง
"ข้าพเจ้าเป็นนักการเมืองที่ขึ้นมาจากรากหญ้า ดังนั้น การเมืองรากหญ้าจึงเป็นความคิดของข้าพเจ้า"
วาทะของนาโอโตะ คัง ที่ให้คำจำกัดความสำหรับรัฐบาลสะท้อนถึงเส้นทางการเมืองที่เขาก้าวขึ้นมาว่ามิได้สวยหรูเหมือนกับผู้นำประเทศคนก่อนๆ ด้วยต้นทุนทางสังคมที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นนายชินโสะ อาเบะ นายยาสุโอะ ฟูกุดะ นายทาโร่ อาโสะ และนายยูกิโอะ ฮาโตยามะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานของข้าราชการระดับสูง แม้แต่นายกรัฐมนตรีชื่อดังที่อยู่ครบวาระอย่างนายจุนอิจิโระ โคอิซูมิ ก็มาจากครอบครัวนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลมาหลายชั่วอายุคน ดังนั้น การยืดหยันอยู่บนเส้นทางสายการเมืองตลอด 30 ปีของนาโอโตะ คัง จึงต้องแลกมาด้วยการกรำศึกหนักไม่ต่างไปจากนักรบซามูไรในสมัยเอโดะ
ซามูไรเดินดินในคราบนักการเมืองท่านนี้ เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่เมืองอูเบะ จังหวัดยามางูจิ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ ที่สถาบันเทคโนโลยีโตเกียว ก่อนจะสมรสกับนางโนบุโกะ คัง สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของญี่ปุ่น ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายค้านในบ้านของท่านคัง ต่อมานาโอโตะ คัง กระโจนเข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการลงสมัครเป็นส.ส.ถึง 3 ครั้งในปี 2519, 2520 และ 2522 ทว่าเขากลับต้องพบกับความผิดหวังมาโดยตลอด ก่อนที่จะสมหวังในครั้งที่ 4 เมื่อได้รับเลือกเข้าสู่สภาล่างในนามพรรคสหพันธ์สังคมประชาธิปไตย (Democratic Socialist Federation) ในปี 2523
อนาคตทางการเมืองของนายนาโอโตะ คังเริ่มเด่นชัดและเป็นที่จดจำในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้านฝีปากกล้าอันเป็นที่มาของฉายา "อิระ-คัง" (Ira-Kan ย่อมาจาก Irritable-kan) หรือ "คังซัง...จอมหงุดหงิด" รวมถึงผลงานการรับตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขในปี 2539 ที่ต้องต่อสู้กับข้าราชการในกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนเชื้อเอชไอวี ก่อนที่จะเริ่มก่อตั้งพรรคดีพีเจร่วมกับนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ ในปี 2541 และได้เป็นหัวหน้าพรรคคนแรกในปีนั้น ก่อนที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมอีกครั้งในปี 2547
ครั้นเมื่อนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ นายนาโอโตะ คัง จึงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคดีพีเจครั้งที่สาม และครั้งนี้เองที่เขาได้ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งเมื่อวานนี้ ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคก็ได้ตอกย้ำถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของนักการเมืองมือเปล่าที่สู้รบบนเส้นทางการเมืองมาอย่างโชกโชน ทว่าต่อจากนี้ไป นาโอโตะ คัง จะต้องกำดาบให้มั่น เพื่อรับมือกับศึกในสำนักอย่างปัญหาความแตกแยกในสังกัดดีพีเจ ไม่เว้นแม้แต่ศึกระดับชาติอย่างปัญหาเศรษฐกิจ รวมไปถึงศึกนอกประเทศในประเด็นความสัมพันธ์กับสหรัฐและจีน
ศึกภายใน
การเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาอาจทำให้นาโอโตะ คัง เข้าใจถึงสัจธรรมทางการเมืองอย่างถ่องแท้เสียยิ่งกว่าที่เคยรู้มาตลอด 30 ปี ทั้งในแง่ของผู้แพ้และผู้ชนะ รวมถึงการเปลี่ยนผู้สนับสนุนให้เป็นผู้คัดค้าน บนเส้นทางสายนี้ที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร
ศึกภายในด่านแรกอยู่ที่ปัญหาความแตกแยกภายในพรรค โดยเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุนนายนาโอโตะ คัง ที่เป็นแกนนำสมาชิกพรรคระดับอาวุโสซึ่งต่อต้านพฤติกรรมการเมืองที่แปดเปื้อนด้วยเรื่องเงินๆทองๆ ของนายอิจิโร่ โอซาว่า เจ้าของสังกัดส.ส.หน้าใหม่ในคอนโทรลกว่า 150 คน ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองในพรรคดีพีเจที่เขามีส่วนสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์การเลือกตั้งเมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยการโค่นล้มพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี
ดังนั้นแล้ว การสร้างความสมานฉันท์และความเป็นเอกภาพภายในพรรคจึงเป็นภารกิจหลักที่นาโอโตะ คัง ต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อกอบกู้คะแนนนิยมในพรรคดีพีเจที่กำลังตกต่ำลงเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้สัดทันกรณีมองว่า หากนายนาโอโตะ คัง งัดกลยุทธ์แบบทูอินวันโดยนำประสบการณ์ที่คร่ำหวอดทางการเมือง และการทำงานกับมวลชนในอดีตมาผสมผสานปรับใช้เพื่อบริหารงานแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นแล้วละก็ คะแนนนิยมที่ประชาชนเคยมีต่อพรรคดีพีเจก็อาจกระเตื้องขึ้นมาได้บ้าง
ศึกเศรษฐกิจ
ปัญหารอบด้านที่กำลังดาหน้าเข้ามาล้วนแต่เป็นบททดสอบสำคัญที่นาโอโตะ คัง ต้องงัดวิทยายุทธ์หลายกระบวนท่าขึ้นมาต่อสู้ เพื่อกอบกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในจุดพลิกผัน ท่ามกลางปัญหาหนี้สินรุงรัง รวมถึงความขัดแย้งด้านนโยบายภาษี และวิกฤติเงินเยนแข็งค่า ตลอดจนฟื้นฟูสถานะทางเศรษฐกิจของลูกพระอาทิตย์ที่ถูกพญามังกรแย่งตำแหน่งประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลกไปครองแบบเรียบร้อยโรงเรียนจีน
ปัญหาหนี้สิน: ญี่ปุ่นกลายเป็น "กรีซ" แห่งเอเชียเข้าไปทุกขณะ ด้วยตัวเลขหนี้สาธารณะระยะยาวที่มีอยู่ 862 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็นสัดส่วน 200% เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทำสถิติสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก เนื่องจากรัฐบาลมีงบประมาณรายจ่ายในปี 2553 อยู่ที่ 92 ล้านล้านเยน แต่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมีเพียง 37 ล้านล้านเยน ขณะที่รายได้จากส่วนอื่นๆอยู่ที่ระดับ 11 ล้านล้านเยน เท่ากับว่ารายได้ของรัฐบาลยังติดลบอยู่ 44 ล้านล้านเยน
นโยบายภาษี: จากปัญหาหนี้สาธารณะข้างต้น นาโอโตะ คัง ได้คิดเรื่องการอภิปรายนโยบายการขึ้นภาษีผู้บริโภค 5% ซึ่งความเคลื่อนไหวครั้งนื้ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรคดีพีเจพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งวุฒิสภาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่ามา อันจะส่งผลให้การผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ขณะที่มุมของผู้เชี่ยวชาญกลับเห็นว่า การเสนอให้ขึ้นภาษีของนายคังตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหารายได้ให้เพียงพอต่อการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายภายในประเทศ
วิกฤติเงินเยนแข็งค่า: หลังการประกาศผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคดีพีเจ เงินเยนแข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีอีกครั้งเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่หลายฝ่ายเกรงว่าการแข็งค่าของเงินเยนจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม ในเช้าวันนี้ (15 ก.ย.) นายโยชิฮิโกะ โนดะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลด้านการเงินของญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมี.ค.2547 ที่ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
ศึกภายนอก
วิถีแห่งบูชิโดที่ฝังลึกอยู่ในสายเลือดของชาวอาทิตย์อุทัย ซึ่งสอนให้เหล่าซามูไรยึดมั่นในความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ที่ได้รับ และสัตย์ซื่อกับสัญญาที่ได้ลั่นวาจาไว้ได้ปรากฎให้เห็นจากการลาออกของนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ ที่ประกาศลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเพื่อรับผิดชอบในสิ่งที่ตนไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการย้ายฐานทัพสหรัฐ Futemma Air Station บนเกาะโอกินาวาตามกำหนดเส้นตายที่ให้ไว้ ทว่าสปิริตอันแรงกล้าของฮาโตยามะ กลับทำให้นายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ต้องรับเผือกร้อนไปเต็มๆ เนื่องจากฟากหนึ่งต้องรับแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาด้วยการปฏิบัติตามพันธะสัญญาเพื่อดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ขณะที่อีกฟากฝั่งต้องทนฟังเสียงก่นด่าจากชาวโอกินาวา ที่อยากให้รัฐบาลเขี่ยฐานทัพที่ว่าออกไปให้พ้นหูพ้นตาโดยเร็ว
นอกเหนือจากศึกใหญ่ที่ท้าทายความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกแล้ว ล่าสุด ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับมรสุมระลอกใหม่ที่อาจสั่นคลอนความสัมพันธ์กับจีน จากกรณีที่ทางการญี่ปุ่นจับกุมกัปตันเรือประมงของจีนที่ชนเข้ากับเรือตรวจการณ์ของญี่ปุ่น 2 ลำ ใกล้หมู่เกาะเซนกากุในเขตทะเลจีนตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทที่ทั้งสองชาติต่างแย่งกันครอบครองกรรมสิทธิ์
โดยล่าสุด ศาลญี่ปุ่น ได้ตัดสินให้มีการควบคุมตัวกัปตันเรือจนถึงวันที่ 19 กันยายนนี้ ก่อนตัดสินใจว่าจะตั้งข้อหาหรือไม่ ส่วนลูกเรือที่เหลือทั้ง 14 คน ได้รับการปล่อยตัวกลับประเทศจีนแล้ว ขณะที่จีนออกมากล่าวหาญี่ปุ่นอย่างไม่ไว้หน้าว่า ญี่ปุ่นกำลังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเลวร้ายลง
"เมื่อได้ชัยชนะแล้ว จงคาดเชือกหมวกเกราะให้แน่นอยู่เสมอ" ปรัชญาซามูไรข้อนี้อาจเป็นคติเตือนใจท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่น ที่ไม่สามารถหลงระเริงอยู่กับความหอมหวานของชัยชนะที่คว้ามาได้ในครั้งนี้ ทว่าต้องรีบปรี่ไปถอดสูทและสวมชุดเกราะเพื่อสู้รบกับศึกใหญ่หลวงที่รออยู่เบื้องหน้าด้วยอาวุธประจำกายที่หาใช่คมดาบ หากแต่เป็นศาสตร์แห่งการบริหารประเทศที่แยบยลและเหมาะสมกับสถานการณ์ ในยามที่ทั่วโลกกำลังตั้งความหวังว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ในรอบ 3 ปีของญี่ปุ่นผู้นี้จะสามารถทำงานในตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระ เฉกเช่นต้นซากุระที่มีเวลาผลิบานและผลัดใบตามวัฏจักรของมันเอง