นายพรชัย มีมาก อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ตนเองเป็นตัวแทนพนักงานองค์การโทรทัศน์มายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประมูล 3G ว่า การดำเนินการของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) นั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจาก กทช.เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์มาทำหน้าที่เป็นคู่สัญญา การเปิดประมูลในที่สุดแล้ว กทช.ก็ต้องมาเป็นคู่สัญญา ในขณะที่ตัวเองเป็นคนกำกับดูแล ก็อาจจะเกิดปัญหาในอนาคตได้ว่า กทช.เป็นคู่สัญญา และเป็นคนตั้งกติกาแต่หากเกิดความขัดแย้งจะต้องเกิดปัญหาอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการเปิดประมูล 3G ครั้งนี้ มีวาระซ่อนเร้น เนื่องจากเป็นการเปิดประมูลคลื่นความถี่ที่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ต ซึ่งการจัดสรรคลื่นความถี่ ไม่ใช่อำนาจของ กทช. จะต้องมีคณะกรรมการร่วม คือ กสทช.เป็นผู้ดำเนินการ
ทั้งนี้ เห็นว่าหากรัฐบาลต้องการผลักดันเรื่องโครงการ 3G ก็สามารถดำเนินการผ่านบริการผ่านบริษัท เอซีที โมบบาย บริษัทลูกของทีโอทีที่ให้บริการในเรื่อง 3G อยู่แล้ว เพียงแต่ให้บริการเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพแค่ 524 สถานี
บริษัท เอซีที โมบาย บริษัทลูกของทีโอที ได้รับการกู้เงินจากทีโอที จำนวน 1,400 ล้านบาท เพื่อดำเนินการติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G เฟสแรก จำนวน 500 สถานีฐาน แต่การดำเนินการใดๆ ยังติดขัดเรื่องกฎระเบียบว่าจะต้องผ่านสภาพัฒน์ เนื่องจาก บริษัท เอซีที โมบาย เป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องขออนุมัติเงินกู้ จึงเกิดความไม่คล่องตัว เมื่อเกิดความไม่คล่องตัวก็ไม่มีเงินมาลงทุน แต่หากรัฐบาลจะผลักดันเรื่อง 3G ก็สามารถอนุมัติผ่าน เอซีที โมบาย ได้
ทั้งนี้ การอนุมัติกู้เงินเพื่อตั้งสถานีเพิ่มอีกหมื่นกว่าแห่งให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
นายพรชัย กล่าวว่า การดำเนินการของ กทช.ค่อนข้างมีเงื่อนงำ เนื่องจากไม่มีการชี้แจงให้ประชาชนรับทราบถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจากผู้ให้บริการเดิมมาเป็นผู้ให้บริการใหม่ อาจจะทำให้ประชาชนที่ใช้เครือข่ายเดิม 800 หรือ 900 ไม่สามารถใช้บริการได้
"ยืนยันว่า หากกทช.ดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหาก็จะไม่มี แต่ที่ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจาก กทช.จัดสรรคลื่นความถี่ตามอำเภอใจ ไม่มีสิทธิ์นำคลื่นความถี่ไปเปิดประมูล"นายพรชัย กล่าว