นับตั้งแต่เกิดเหตุเรือประมงของจีนชนเข้ากับเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 2 ลำของญี่ปุ่น ในบริเวณน่านน้ำใกล้ๆกับหมู่เกาะเตียวหยู (หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า เซนกากุ) เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมานั้น สถานการณ์ในแดนมังกรและแดนซากุระ ก็เรียกได้ว่า เผ็ดร้อนเหมือนกินซูชิใส่วาซาบิเต็มๆคำกับเต้าหู้ผัดซอสเสฉวนเลยทีเดียว
นักวิเคราะห์หลายรายวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ความตึงเครียดที่ยืดเยื้อครั้งนี้ว่า อิทธิพลทางเศรษฐกิจที่กว้างใหญ่ไพศาลของจีนและความอ่อนด้อยด้านประสบการณ์ทางการทูตของนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ประกอบกับความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐ ล้วนเป็นสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังของการตอบโต้ที่เข้มข้นขึ้นของแดนมังกรที่มีต่อแดนซากุระ
แม้ญี่ปุ่นจะออกมายืนยันว่า เหตุเรือประมงชนกับเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง จะไม่ส่งผลกระทบความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เพราะทั้ง 2 ประเทศได้ใช้ความพยายามเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น แต่เรื่องราวกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามทุกขณะ เมื่อทางการญี่ปุ่นตัดสินใจกักตัวกัปตันเรือประมงชาวจีนต่อไปอีก 10 วัน โดยมีการตั้งข้อสงสัยว่า กัปตันเรือรายนี้จงใจขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และทำการประมงโดยผิดกฎหมายในน่านน้ำของญี่ปุ่น
นอกจากนี้ เหตุการณ์ประท้วงในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองต่างๆของจีนเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 79 ของเหตุการณ์แมนจูที่ทำให้เกิดการรุกรานพื้นที่ทางตะวันออกของจีนซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบาดแผลในอดีตที่แดนซากุระได้ทำไว้ รวมทั้งการประท้วงเรื่องอำนาจในการดูแลหมู่เกาะเซนกากุที่จีนและไต้หวันต่างอ้างในกรรมสิทธิ์นั้น ดูเหมือนว่า จะตอกย้ำให้สถานการณ์คุกรุ่นมากยิ่งขึ้น
นายเซอิจิ มาเอฮาร่า รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นได้ออกมากล่าวแบบถนอมน้ำใจหลังเกิดเหตุประท้วงหน้าสถานทูตญี่ปุ่นในจีนว่า ต้องขอบคุณจีนที่ใช้ความพยายามในการดูแลกลุ่มผู้ประท้วง พร้อมกับเปิดทางว่า จะหาทางแก้ปัญหาในระดับผู้บริหารร่วมกัน และตั้งความหวังว่า จะได้หารือเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับจีน แต่จีนหาได้สนใจไม่ เดินหน้าระงับการประชุมและการติดต่อระดับรัฐมนตรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงกับญี่ปุ่น ตลอดจนระงับการเจรจาเรื่องถ่านหิน เพื่อสื่อให้เห็นถึงความไม่พอใจ และได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวกัปตันเรือทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข
ล่าสุด โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนระบุว่า นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า ของจีน จะไม่จัดการเจรจาร่วมกับนายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นนอกรอบการประชุมสมัชชายูเอ็นที่นิวยอร์กสัปดาห์นี้ โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์ตอนนี้ไม่เหมาะสมสำหรับการประชุม
การที่จีนและญี่ปุ่นต่างไม่ยอมอ่อนข้อให้กันนั้นเป็นเพราะไม่ต้องการให้นานาประเทศมองว่าอ่อนแอ ยุคนี้ คงจะไม่มีใครปฏิเสธอิทธิพลของจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลก หลังจากที่จีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่เศรษฐกิจแดนมังกรขยายตัวอย่างแข็งแกร่งเนื่องจากดีมานด์ที่สูงขึ้น ทั้งดีมานด์ทรัพยากร เครื่องจักร และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จนเป็นกลไกผลักดันให้จีนก้าวขึ้นเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุดของญี่ปุ่น และยังกลายเป็นเสาหลักที่ช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ฟื้นตัวขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
ขณะที่ญี่ปุ่นนั้น แม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ของญี่ปุ่นขยายตัว 0.4% ต่อปี หรือขยายตัว 0.1% ต่อไตรมาส ซึ่งเป็นการทำสถิติขยายตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส แต่ตัวเลขจีดีพีก็ยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า จะขยายตัว 2.3% ต่อปี และ 0.6% ต่อไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากดีมานด์ทั่วโลกชะลอตัวลงและผลพวงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เริ่มเจือจาง
นอกจากญี่ปุ่นจะต้องรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจแล้ว การที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของญี่ปุ่นและสหรัฐตึงเครียดอันเนื่องมาจากปัญหาในการโยกย้ายฐานทัพสหรัฐออกจากเกาะโอกินาว่ายังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากสหรัฐยังต้องการคงฐานทัพไว้ในพื้นที่โอกินาว่า แต่ชาวโอกินาว่าไม่ต้องการให้ฐานทัพดังกล่าวอยู่ในอาณาบริเวณอีกต่อไป ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของเพื่อนซี้ต่างทวีปคู่นี้จืดจางลงไปชั่วขณะ จนทำให้หลายฝ่ายมองว่า งานนี้ ญี่ปุ่นคงหาแบ็คอัพยาก
สำหรับบทบาทของจีนในเรื่องการเมืองในภูมิภาคนี้ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบทบาทด้านเศรษฐกิจ กรณีที่เห็นได้ชัดเมื่อเร็วๆนี้ก็คือ บทบาทในการเกลี้ยกล่อมโสมแดงให้กลับเข้าร่วมการประชุม 6 ฝ่ายว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งหากสังเกตดูจะเห็นว่า ก่อนหน้านี้ ยิ่งประเทศสมาชิกการประชุม 6 ฝ่ายทั้งหลายได้พยายามดึงให้โสมแดงกลับลำเข้าร่วมการประชุมมากเพียงใด ความหวังที่จะฟื้นการประชุมก็ดูเหมือนจะยิ่งห่างไกลออกไปมากเท่านั้น แต่พอประเทศสมาชิกการประชุมออกมาขอร้องให้จีนรับหน้าเสื่อในการดึงโสมแดงกลับมาร่วมเวทีการเจรจาเท่านั้น โสมแดงก็เอ่ยปากเรื่องการฟื้นการประชุม 6 ฝ่ายขึ้นมาทันที ยิ่งล่าสุดที่มีรายงานข่าวออกมาว่า ผู้นำโสมแดงดอดเยือนจีนนั้น ก็ยิ่งตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ของสองดินแดนแห่งโลกคอมมิวนิสต์ว่าแนบแน่นเพียงไร
กัว หง รองผู้อำนวยการสถาบันศึกษาญี่ปุ่น มองว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่นหรือดีพีเจ ยังขาดประสบการณ์ และจำเป็นต้องเรียนรู้จากบทเรียนครั้งนี้ถึงความสำคัญในการดูแลความสัมพันธ์กับจีนให้อยู่ในสภาพที่ดีและมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ กัว ยังมองมุมบวกว่า ท้ายที่สุดแล้ว ญี่ปุ่นจะยอมอ่อนข้อให้
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศคนอื่นๆ มองว่า การที่จีนกล้าเล่นแรงกับญี่ปุ่นนั้น มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความสัมพันธ์ที่สั่นคลอนของญี่ปุ่นและสหรัฐอันเนื่องมาจากการย้ายฐานที่ตั้งกองทัพที่กระแสต่อต้านในประเทศแรงจนถึงขนาดที่คะแนนนิยมของรัฐบาลชุดนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ อดีตนายกฯคนก่อนร่วงลงจนเจ้าตัวต้องลาออกจากตำแหน่งเลยทีเดียว
ริชาร์ด อาร์มิเทจ อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงเหตุการณ์เรือชนกันครั้งนี้ว่า ปฏิกริยาของจีนนั้นเปรียบเสมือนการส่งสัญญาณเตือนไปยังประเทศต่างๆในเอเชียเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกี่ยวกับเขตแดนกับจีนในทะเลจีนใต้ไปด้วยในตัว
ทางด้านศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยในฮ่องกง กล่าวแสดงความเห็นว่า ทั้ง 2 ประเทศต้องประวิงเวลาเพื่อแสดงท่าทีที่ต้องการสื่อให้นานาประเทศเห็น แต่ทั้ง 2 ฝ่ายก็เข้าใจดีว่าการที่จะดำเนินการใดๆจนส่งผลให้ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีถดถอยนั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ประเทศมีโครงการที่จะพัฒนาแหล่งก๊าซในบริเวณทะเลจีนตะวันออกร่วมกัน แต่ก็ต้องระงับโครงการไว้ก่อน เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ด้านนักธุรกิจญี่ปุ่นเองก็เริ่มออกมาแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะเกรงว่า สถานการณ์ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อทัวร์ช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยวชาวจีนในญี่ปุ่นในช่วงเทศกาลวันหยุดแห่งชาติจีนที่ตรงกับช่วงต้นเดือนต.ค.
ที่ผ่านมา ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวจีนในญี่ปุ่นนั้น คาดว่าจะขยายตัวจาก 1.20 แสนล้านเยนในปี 2551 เป็น 4.30 แสนล้านเยนในปี 2555 แต่ถ้าความขัดแย้งครั้งนี้ยืดเยื้อออกไป ยอดขายที่บริษัทญี่ปุ่นตั้งเป้าไว้อาจจะกระทบกระเทือนอย่างหนัก
บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นบางแห่งได้แนะนำให้พนักงานที่ประจำอยู่ในจีนหลีกเลี่ยงการออกไปนอกสถานที่เพียงลำพัง และเลี่ยงพื้นที่ที่มีการประท้วง ขณะที่บริษัทเอกชนที่มีพนักงานเป็นคนจีนก็ใช้มาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ที่มีกับพนักงานต้องได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ยังส่งผลลุกลามไปถึงโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนที่ต้องถูกยกเลิกไป โดยจีนได้ยกเลิกคำเชิญเยาวชนชาวญี่ปุ่น 1,000 คนเข้าร่วมชมงานเซี่ยงไฮ้ เวิลด์ เอ็กซ์โป ซึ่งถือเป็นหน้าเป็นตาของจีนมากที่สุดในปีนี้ ด้านกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นมองว่า โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนนี้จะช่วยส่งเสริมพื้นฐานความสัมพันธ์อันดีร่วมกัน และถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่จีนตัดสินใจเช่นนั้น
ล่าสุด วง SMAP เจป็อปชื่อดังของญี่ปุ่น ก็ประกาศเลื่อนการแสดงคอนเสิร์ตที่จะจัดขึ้นในเดือนหน้าที่เซี่ยงไฮ้ออกไปโดยไม่ได้ระบุวันจัดคอนเสิร์ตอีกครั้ง โดยให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยของคนดู หลังจากที่ได้ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
จนกระทั่งถึงวันนี้ ดูเหมือนว่า จีนจะเป็นฝ่ายรุกมากกว่า โดยล่าสุด เหวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนซึ่งอยู่ที่นิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาตินั้น ได้ออกมาเรียกร้องให้ญี่ปุ่นปล่อยตัวกัปตันเรือชาวจีนทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข ขณะที่ญี่ปุ่นเองดูเหมือนว่าจะตั้งตัวเป็นฝ่ายรับเสียมากกว่า ดังจะเห็นได้จากการออกมาแสดงความเห็นของหัวหน้าเลขาธิการครม.ที่ระบุว่า ควรจะมีการจัดการเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อแก้ปัญหาโดยเร็ว
ก็ไม่รู้ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้เวลาอีกนานเท่าไรถึงจะคลี่คลายสถานการณ์ที่อึมครึม แต่งานนี้ถือว่ายังดีที่ทั้ง 2 ประเทศไม่มีใครออกมาประกาศว่า จะใช้กองกำลังเพื่อแก้ปัญหา หรือแม้แต่การประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเหมือนกับที่นานาประเทศนิยมใช้กันในช่วงที่ต้องการลงโทษประเทศใดประเทศหนึ่งที่ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทสากล
สุดท้ายนี้ก็ขอให้ 2 ฝ่ายเลิกกินเกาเหลากันเสียที และหันมาคืนพื้นที่แห่งความเป็นมิตรซึ่งกันและกันให้ได้ในเร็ววัน