เอแบคโพลล์ เผยประชาชนส่วนใหญ่มีความชื่นชอบต่อแผนปรองดองกับแผนปรองดองของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยเฉพาะเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันและการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แต่กลับมีความคาดหวังน้อยถึงไม่คาดหวังเลย
"แผนปรองดองที่มีการประกาศออกมาก็ได้รับการตอบรับจากสาธารณาชนดีพอสมควร ถึงขั้นสรุปได้ว่าประชาชนจำนวนมากชื่นชอบ เพียงแต่ไม่คาดหวังอะไรต่อฝ่ายการเมืองในเรื่องแผนปรองดองแห่งชาติ" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว
โดยประชาชนส่วนใหญ่ 37.5% ชื่นชอบแผนปรองดองของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันและการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ขณะที่ประชาชน 33.2% ชื่นชอบการปรองดองของรัฐบาลด้วยการปฏิรูปด้านสวัสดิการ สร้างความเท่าเทียมกัน ด้านอาชีพ ที่ทำกิน การศึกษา สุขภาพ และอื่นๆ ส่วนประชาชนอีก 26.5% ชื่นชอบแผนปรองดองของฝ่ายค้านที่เสนอให้อภัยต่อกัน
ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ 45.4% คาดหวังน้อยถึงไม่คาดหวังเลยต่อแผนปรองดองของฝ่ายค้าน ส่วนที่คาดหวังปานกลางมีอยู่ 25.2% และ 29.4% คาดหวังค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ 47.1% คาดหวังน้อยถึงไม่คาดหวังเลยต่อแผนปรองดองที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอ ส่วนที่คาดหวังปานกลางมีอยู่ 24.1% และ 28.8% คาดหวังค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
"สาเหตุหลักๆ น่าจะเป็นเพราะความไม่เชื่อมั่น ไม่ศรัทธาของสาธารณชนต่อฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงมีความจำเป็นที่นักการเมืองต้องเร่งกอบกู้ปรับปรุงภาพลักษณ์โดยด่วน เพื่อรักษาเยียวยาระบบของสังคมไทยให้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าบนวิถีทางประชาธิปไตยต่อไปได้" นายนพดล กล่าว
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า แผนปรองดอง คือ เครื่องมือของหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาใช้เพื่อให้ประเทศนั้นๆ ไม่หยุดชะงัก ไม่ถูกสกัดกั้นในการพัฒนา แผนปรองดองจะต้องทำให้รัฐบาลและฝ่ายค้านทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศโดยไม่ทำให้ฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มบุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกลายเป็น "ผู้แพ้" หรือ "ผู้ชนะ" แผนปรองดองต้องไม่กลายเป็น "ตัวสร้างเงื่อนไข" หรืออุปสรรคใดที่จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการหยุดการพัฒนาเสียเอง ตรงกันข้ามแผนปรองดองต้องทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนในหมู่ประชาชน
ทั้งนี้ เอแบคโพลล์ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ สถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ร่วมกันสำรวจเรื่อง วัดใจสาธารณชนต่อแผนปรองดองของรัฐบาลเปรียบเทียบกับของฝ่ายค้าน จากประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,168 ครัวเรือน ระหว่างวันที่ 20-21 ก.ย.ที่ผ่านมา