คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยกคำร้องกรณีที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) เพราะอาจเข้าข่ายขัด เนื่องจากคู่สมรสและบุตรถือครองหุ้นในบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(STEC) ที่รับสัมปทานของรัฐ
"คณะกรรมการไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่าจากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็นไม่เพียงพอรับฟังได้ว่านายชวรัตน์ คู่สมรส และบุตร ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญปี 50 ในมาตรา 269, 267 ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 265(2)วรรค 3 เห็นควรยกคำร้องทุกประเด็น ซึ่งกกต.รับทราบตามความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน และมีมติเสียงข้างมากให้ยกคำร้อง"นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.กล่าว
เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า จากที่คณะกรรมการไต่สวนฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาโครงการต่างๆ ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่ามีการกระทำที่ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 นั้น พบว่านายชวรัตน์ ไม่ได้เป็นคู่สัญญา จึงไม่มีการก้าวก่ายแทรกแซง อีกทั้งสัญญาดังกล่าวไม่ใช่สัญญาสัมปทาน การเข้าเป็นคู่สัญญาจึงไม่มีลักษณะผูกขาดตัดตอนตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
นอกจากนี้ STEC ได้เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างงานงานรับเหมาก่อสร้างตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุและการประกวดราคานานาชาติ และเป็นผู้ชนะการประมูลโดยวิธีการประกวดราคาทั้ง 9 โครงการ ดังนั้น จึงไม่ใช่การผูดขาดตัดตอนตามที่กล่าวอ้าง และไม่ปรากฏว่านายชวรัตน์ ได้ใช้อำนาจในการเป็นรัฐมนตรีก้าวก่ายแทรกแซงการประกวดราคาหรือการเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐแต่อย่างใด
ทั้งนี้ นายชวรัตน์ ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการ STEC เมื่อวันที่ 31 ม.ค.51 และนางทัศนีย์ ชาญวีรกูล ภรรยา ลาออกเมื่อวันที่ 21 พ.ย.51 ขณะที่นายชวรัตน์ ได้เข้ารับตำแหน่ง รมว.มหาดไทย เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.51
ส่วนประเด็นที่ว่านายชวรัตน์ ถือหุ้นในบริษัทต่างๆ นั้น ข้อเท็จจริงปรากฎว่าได้ให้ บลจ.เอ็ม เอฟ ซี ไปบริหารจัดการแล้ว อีกทั้งได้แจ้งข้อมูลต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรีแล้ว โดยนายชวรัตน์ ไม่มีอำนาจเข้าไปครอบงำหรือจัดการหุ้นดังกล่าวที่ฝากไว้ จึงไม่ถือว่ากระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ตามคำร้อง
ขณะเดียวกันไม่ปรากฎหลักฐานว่านางทัศนีย์ ถือหุ้นของ STEC และ บมจ.เอสทีพี แอนด์ ไอ(STPI) ส่วนบุตรทั้ง 3 คนของนายชวรัตน์ นั้นได้บรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่ต้องห้ามไม่ให้เข้าเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นในบริษัทตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 วรรคท้าย
"เมื่อการกระทำของนายชวรัตน์ ไม่มีการแทรกแซง หรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือเป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น หรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาไม่ว่าทางตรงทางอ้อม จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 50" เลขาธิการ กกต.ระบุ
ส่วนกรณีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการใช้จ่ายเงินในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เป็นเพียงรายละเอียดเท่านั้น เพราะวงเงินยังคงเท่าเดิมที่ 35,620 ล้านบาท และเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติ ไม่ได้เป็นอำนาจของนายชวรัตน์ ในขณะดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทยคนเดียวแต่อย่างใด
อนึ่ง กรณีนี้นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.เมื่อเดือน ก.ย.52 เพื่อขอให้ตรวจสอบและส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายชวรัตน์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182(7) ของรัฐธรรมนูญปี 50