นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ตรวจสอบนางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. และพวก ในฐานะเป็นคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กรณีจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 46 วรรคสาม ด้วยการแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำและสื่อมวลชน และล่วงล้ำอำนาจของฝ่ายบริหาร
ด้วยปรากฏหลักฐานในบันทึกการประชุม 3 ครั้งของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตฯ คือ ครั้งที่ 15-17/2553 เพื่อพิจารณาการดำเนินงานของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรณีมีข้อสงสัยว่ามีการตรวจสอบเนื้อหาของข่าวและรายการก่อนมีการออกอากาศรายการ"คลายปม" ทาง NBT และรายการ"คนค้นคน" ทางช่อง 9 อสมท. โดยเชิญเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของทั้ง 2 สถานีเข้าชี้แจง แต่เนื้อหาสาระการซักถามในบันทึกการประชุมทั้ง 3 ครั้งแสดงให้เห็นลักษณะการกระทำของคณะกรรมาธิการฯ ต้องการซักถามหาสาเหตุตามความต้องการของคณะกรรมาธิการฯ เอง โดยประสงค์จะให้มีการถ่ายทอดคำพูดบางส่วนที่ผู้ชี้แจงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของเอกชน พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลที่สามหรืออาจถูกฟ้องร้องตามมาได้
นายเรืองไกร กล่าวว่า ดังนั้นจึงขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการกระทำของ น.ส.รสนา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ และ ส.ว.คนอื่นที่ร่วมเป็นกรรมาธิการฯ ซึ่งร่วมประชุมอยู่ด้วย ซึ่งหากเข้าข่ายเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ขอได้โปรดดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 275 ด้วยการส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป
นอกจากนี้ ตนเองได้ส่งหนังสือถึงประธาน กกต.ขอให้ตรวจสอบคณะกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าว กรณีจงใจใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 266 (1) ก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการกรมธนารักษ์ ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงในบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ครั้งที่ 15/2553 มีใจความตอนหนึ่งว่า ตามที่คณะกรรมาธิการฯ ได้มีมติมอบหมายให้กรมธนารักษ์ไปทบทวนการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของ บมจ.ปตท.(PTT) ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้ถูกต้องตามกระบวนการขั้นตอนของมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 ภายในระยะเวลา 1 เดือน นับจากวันที่ 6 พ.ค.53 ที่ผู้แทนจากกรมธนารักษ์ได้มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ นั้น เนื่องจากยังไม่มีการดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมาธิการฯ จึงได้มีหนังสือไปยัง รมว.คลัง เพื่อขอทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทำให้เข้าใจว่าได้ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็น ส.ว.ในฐานะกรรมาธิการฯ เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม มีลักษณะใช้อำนาจหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติก้าวล่วงหน้าที่งานประจำของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในกำกับดูแลของ รมว.คลัง อันเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารคือ คณะรัฐมนตรี(ครม.) อันจะมีผลให้สมาชิกภาพต้องพ้นสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119 (5) หรือไม่
ทั้งนี้ หาก กกต.เห็นว่า สมาชิกภาพของ ส.ว.คนใดคนหนึ่งตามคำร้องข้างต้นนี้มีเหตุสิ้นสุดลง ขอได้โปรดทำคำร้องพร้อมความเห็นส่งไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งคำร้องพร้อมความเห็นดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไป