ครม.รับทราบ 3 มาตรการหลักดูแลพื้นที่, เร่งติดวงจรปิดพื้นที่เสี่ยง

ข่าวการเมือง Tuesday September 28, 2010 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ รับทราบจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า มีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัย 3 มาตรการหลักๆ ในการดูแลพื้นที่รอบๆ กรุงเทพมหานครและพื้นที่เป้าหมายต่างๆ 467 จุด ประกอบด้วย มาตรการในเชิงการป้องกัน หรือมาตรการในเชิงการวางระบบในการดูแลควบคุมจุดเสี่ยง จุดล่อแหลม โดยการจัดด่านรักษาความปลอดภัย ปรับสภาวะแวดล้อมของจุดสุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ฝึกซักซ้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

และมาตรการสกัด ยับยั้ง กดดัน เกาะติด สืบสวน สอบสวน วางระบบเพื่อสืบสวนหาข่าว กดดันกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้กลุ่มที่ฉวยโอกาสเข้ามาก่อกวนสถานการณ์

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่ทำงานกับภาคประชาสังคมในการรณรงค์ผ่านสื่อ ในการจัดโครงการ ประกาศ แจ้งเตือน จัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้ง ร่วมมือกับอาสาสมัครพลเรือนในรูปแบบต่างๆ

"3 กลุ่มมาตรการนี้ เป็นมาตรการที่คณะรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งจะได้มีการดำเนินการ สั่งการในการปฏิบัติใน 3 กลุ่มพื้นที่ คือ พื้นที่เฝ้าระวังที่มีความเสี่ยง เช่น พื้นที่สาธารณะ สถานที่เอกชนที่มีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ดีมากนัก, พื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ มีความล่อแหลม สถานที่ราชการ พื้นที่สาธารณูปโภคต่างๆ, พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษอย่างยิ่ง คือ สถานที่ราชการ หรือสถานที่สำคัญอื่นๆ" โฆษกฯ กล่าว

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้รับทราบภาพรวมของการประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะการวางระเบิด การใช้วัตถุระเบิดตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง สตช.รายงานว่ามีประมาณ 125 เหตุการณ์ โดย 108 เหตุการณ์เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม 72 ครั้งและลักษณะของระเบิดค่อนข้างคล้ายคลึงกันคือ เป็นระเบิดแบบขว้างและแบบยิง หลังการชุมนุมเกิดเหตุประมาณ 36 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นระเบิดแสวงเครื่องประมาณ 20 คดี

ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีการสอบถาม ทำความเข้าใจ เพื่อให้มาตรการเหล่านี้รัดกุม และให้ประชาชนมั่นใจ มีการสอบถามเรื่องการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับทราบว่าขณะนี้มีการสำรวจการติดตั้งทั่วไปแล้ว มีอยู่ประมาณ 8,846 กล้อง รวมทั้งของภาคเอกชนด้วย ว่ามีจุดไหนที่ชำรุด จุดไหนต้องเชื่อมโยงประสานงาน

ในส่วนของ กทม.กำลังของบประมาณเพิ่มเติมจากโครงการไทยเข้มแข็งอีกประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงระบบกล้องวงจรปิดเพื่อให้เกิดการรวมศูนย์ให้สามารถถ่ายภาพตอนกลางคืน ถ่ายภาพละเอียดนำไปประกอบการดำเนินคดีได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีคำแนะนำให้ไปปรับให้สอดคล้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงขอความร่วมภาคเอกชนในการวางเครือข่ายให้ครอบคลุม

ทั้งนี้ ในการประชุมครม.ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในหลายพื้นที่ในหลายประเทศ ติดตั้งกล้องวงจรปิดเหล่านี้แล้ว อาชญากรรมต่างๆลดลงถึง 70% เพราะฉะนั้นให้มีการเร่งรัดติดตั้งกล้องวงจรปิดเหล่านี้ให้แล้วเสร็จและทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดในตึกสูง เช่น ช่อง 11 เพื่อเฝ้าระวังในพื้นที่สุ่มเสี่ยง เช่น ทางยกระดับ หรือทางด่วน ยกเว้นต้นทางและปลายทางที่มีการติดตั้งอยู่แล้ว

พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรี ได้มีการพูดคุยสอบถามเรื่องการกดดันกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งของมาตรการเชิงรุก มาตรการเชิงติดตามป้องกันเหตุร้าย อย่างไร มีการติดตามประเมินผลอย่างไร

อย่างไรก็ตาม นายกและรองนายกฯ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเรื่องการวางระบบป้องกัน และความปลอดภัย ให้ทำงานร่วมกับประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอาสาสมัครและพลเรือน ในการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง และยังกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สตช.ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน คือ ข้อมูลในเชิงเฝ้าระวัง เชิงป้องกัน ในเชิงแจ้งเตือน เรื่องที่สองคือ ให้ข้อมูลเกี่ยกับความคืบหน้าของคดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เช่น เหตุระเบิดหลายกรณีมีลักษณะเฉพาะของวัตถุระเบิดหลายลักษณะที่เชื่อมโยงกันได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ