ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง 4 ปากในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จากกรณีการใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ในวันแรก ได้แก่ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตเลขาธิการพรรค, นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองเลขาธิการพรรค และนายประพร เอกอุรุ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์
นายบัญญัติ ให้การว่า การขอเปลี่ยนแปลงโครงการใช้เงินจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายใต้วัตถุประสงค์เดิม โดยพรรคได้มอบหมายให้นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ และนางอาภรณ์ รองเงิน เป็นผู้ประสานการเปลี่ยนแปลงโครงการจัดทำป้ายหาเสียงของพรรค ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดไม่ใช่หลักการ และเห็นว่าที่ผ่านมาหลายๆ พรรคก็เคยได้รับการอนุมัติให้สามารถเปลี่ยนแปลงโครงการได้
ส่วนตามแผนงานโครงการได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในครั้งแรกวันที่ 19 พ.ย.47 ให้ทำป้ายหาเสียงวงเงิน 19 ล้านบาท แต่พรรคได้ว่าจ้างบริษัทจัดทำป้ายในวงเงิน 23 ล้านบาททั้งที่ทราบดีว่าการดำเนินการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ จะต้องดำเนินการหลังวันที่ 1 ม.ค.48 นั้น
นายบัญญัติ กล่าวว่า โดยปกติเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองต้องมีการเตรียมดำเนินการล่วงหน้าไว้ก่อน ยิ่งช่วงใกล้เลือกตั้งพรรคต้องจัดหาผู้ว่าจ้างในการจัดทำป้ายหาเสียงเพื่อให้ทัน จึงถือว่าเป็นความชอบธรรมที่สามารถปฏิบัติการได้ แต่ก็เป็นความเสี่ยงของบริษัทที่รับจ้างทำป้ายหากไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น บริษัทก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในงานที่ทำไปก่อนล่วงหน้า แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าแม้บริษัทจะรับงานไปทำก่อนแต่มีข้อตกลงว่า พรรคจะจ่ายเงินค่าจ้างได้หลังจากวันที่ 1 ม.ค.48 ไปแล้ว
การที่นางวาศิณี ทองเจือ ผู้บริหารบริษัท แม็กเน็ท ซายน์ ซึ่งรับงานจัดทำป้ายนโยบายให้กับพรรคให้การว่าจัดทำและส่งป้ายไปยังจังหวัดต่างๆภายในวันที่ 24 พ.ย.47 เป็นการให้การเท็จทั้งสิ้น เพราะผู้ที่รับผิดชอบระบุว่าการตกลงทำสัญญาจ้างได้รวมค่าขนส่งไว้แล้ว การที่อ้างว่ามีค่าจัดส่ง 2 แสนบาท จึงไม่จริง และน่าจะจัดทำเอกสารขึ้นภายหลัง
"พยานให้ถ้อยคำแบบนี้ไม่น่าเชื่อถือแน่นอน นอกจากนี้นางวาศิณี ยังรู้ข้อมูลของประชาธิปัตย์มากเกินไป รู้ถึงขั้นว่าตู้เซฟอยู่ที่ไหน เงินสดอยู่ในเซฟไหน เหมือนจะเป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจกันมาก่อน โดยหลักพรรคคงไม่ให้คนที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้าแค่มาของานทำ ไปรู้ไปเห็นอะไรมากมายขนาดนั้นได้" นายบัญญัติ กล่าว
นอกจากนี้นายบัญญัติ ยังชี้ให้ศาลเห็นว่า น.ส.วาศิณี เป็นพยานที่ถูกเสี้ยมสอนจาก พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย อดีตรองอธิบดี ดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ที่ได้รับมอบหมายให้ทำคดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ แต่กลับแสดงเจตนาที่จะเอาผิดพรรคประชาธิปัตย์ ในกฎหมายพรรคการเมือง โดยสมคบคิดกับ นางวราพร ณ ป้อมเพชร ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบระบบบัญชีการเงินและทรัพย์สิน กกต.
ส่วนนายธงชัย คลศรีชัย และนายประจวบ สังข์ขาว ผู้บริหารบริษัทแมสไซอะนั้น นายบัญญัติ ยืนยันว่า นายธงชัย ไม่มีส่วนเกี่ยวพันกับพรรคใดๆทั้งสิ้น ตนในฐานะหัวหน้าพรรคขณะนั้นไม่เคยมอบหมายให้ทำอะไร เรื่องทั้งหมด พ.ต.อ.สุชาติ พยายามที่จะโยงให้มาเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ และที่นายประจวบอ้างว่าโอนเงินให้กับคนในพรรคก็ไม่เป็นความจริง เส้นทางการเงินที่พูดกันก็เป็นเรื่องอ้างถึงคนภายนอกทั้งสิ้น นายประจวบเป็นผู้จัดทำป้ายเท่านั้น
ด้านนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตเลขาธิการพรรค เบิกความว่า การที่น.ส.วาศิณี นำหลักฐานเอกสารและวีซีดี ระบุการจัดส่งมอบป้ายในเดือน พ.ย. 47 มาแสดงนั้นเป็นการใส่ร้ายพรรคประชาธิปัตย์ เพราะขณะนั้นยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องการเลือกตั้งเนื่องจากประชุมของ กกต. และพรรคการเมืองจะมีขึ้นวันที่ 3 ธ.ค. ข้ออ้างของจึงไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตามมยืนยันว่าการจ่ายเช็ค เป็นค่าจ้างจัดทำป้ายของพรรคประชาชาธิปัตย์ให้กับบริษัทต่างๆเป็นการจ่ายในเดือนม.ค.48 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงานหรือค่าของการที่บริษัทรับทำป้ายออกใบเสร็จมาก่อน ก็เป็นการออกแทนใบวางบิล และเมื่อบริษัทที่รับทำป้าย รวมถึง น.ส.วาศินี ได้รับเงินไปแล้วจะนำไปให้ใครตนไม่เกี่ยวข้อง
นายประดิษฐ์ ยังให้การว่า จากการตรวจสอบของ DSI ในบัญชีของตนหลายบัญชี ไม่พบว่ามีการรับเงินบริจาคจากผู้ใด
ขณะที่ ทนายผู้ร้องได้ซักค้านนายประดิษฐ์ในกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จ่ายเงินค่าทำป้ายโฆษณา ให้บริษัท เมซ ไซอะ ก่อนที่พรรคจะได้รับอนุมัติจากกองทุนฯ นายประดิษฐ์ ยืนยันว่า พรรคได้พิจารณาหากกองทุนฯ ไม่อนุมัติตามที่พรรคได้เสนอขอเปลี่ยนแปลง พรรคก็พร้อมที่จะใช้เงินที่มีอยู่ในบัญชีของพรรค ป็นค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีที่นายธงชัย นำเช็ค จำนวน 20 ล้านบาทมาให้น้องสาวตน เป็นเพียงการชำระหนี้เท่านั้น
จากนั้นเป็นการสืบพยานนายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ยืนยันว่า ไม่เคยใช้ให้นายประจวบโอนเงินให้กับบุคคลต่าง ๆ ภายในพรรค โดยเฉพาะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์
ด้านนายประพร กล่าวว่า อนุกรรมการของ กกต. ไม่เคยเชิญไปให้ปากคำว่าเกี่ยวข้องกับคดีเงินกองทุนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่มาทราบเรื่องตอนถูกอภิปรายในสภาฯ จึงได้สอบถามน้องสาว จึงทราบว่าลูกพี่ลูกน้องคือนายสมศักดิ์ เอกอุรุ ได้ไปรับงานจากบริษัท เมซ ไซอะ โดยน้องสาวไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด
หลังการไต่สวน ศาลได้นัดคู่กรณีนำพยานเข้าเบิกความครั้งต่อไปวันที่ 11 ต.ค. โดยจะมีพยานทั้งสิ้น 5 ปาก คือนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก ในฐานะคณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการประชาสัมพันธ์ นางอาภรณ์ รองเงิน เจ้าหน้าที่พรรค นางอรุณี รอยสูงเนิน เจ้าหน้าที่พรรค นายอศิระ หลิมศิริวงษ์ ประธานคณะกรรมการไต่สวนคดีนี้ของกกต. นายคมสัน โพธิ์คง อดีตส.ส.ร.