แบงก์-เอกชนเบรก กนง.ขึ้นดอกเบี้ยห่วงซ้ำเติมบาทแข็ง คาดปีหน้าไปถึง 28 บ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 7, 2010 09:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายวิชาการ มองการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)รอบใหม่วันที่ 20 ต.ค.และช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% เพราะหากฝืนขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะยิ่งมีผลกดดันทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น แม้ว่าตามหลักวิชาการอัตราดอกเบี้ยควรกลับเข้าสู่ระดับปกติได้แล้ว หลังจากเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้ดี แต่ขณะนี้มีปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องของเงินทุนไหลเข้ามาประกอบด้วย

ด้านภาคเอกชน มองเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าคาดมาก เกรงส่งผลกระทบผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน วอนชะลอการขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

          สถาบัน                  ดอกเบี้ย R/P(สิ้นปี)            บาท/ดอลลาร์(สิ้นปี)
          บล.นครหลวงไทย             1.75%                     29.50
          ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ       2.00%                     29.00
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย             2.00%                     29.50
          สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย         1.75%                     29.00
          สภาหอการค้าไทย             1.75%                     28.50 (6 เดือนแรกของปี 54)
          สภาอุตสาหกรรมฯ             1.75%                     28.00 (ภายในปี 53)

นายกิตติพงษ์ กังวานเกียรติชัย นักเศรษฐศาสตร์ บล.นครหลวงไทย ประเมินว่า การประชุม กนง.ที่เหลืออีก 2 ครั้งภายในสิ้นปีนี้จะไม่ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะทำให้ ณ สิ้นปีอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ที่ระดับ 1.75% เนื่องจากมองว่าขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็เริ่มกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุส่วนหนึ่งของเงินบาทแข็งค่ามาจากเงินทุนไหลเข้าทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น เพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยมีความแข็งแกร่ง ประกอบกับ ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยจูงใจให้เข้ามาลงทุน ดังนั้น หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ก็ยิ่งจะเป็นตัวหนุนให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นไปอีก

"แนวโน้มถ้าดูจากปัจจัยตอนนี้ กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยทั้ง 2 รอบ และดู feedback ที่ ธปท.กังวลค่าเงินบาทในช่วงนี้ จึงมองว่าไม่น่าจะเสี่ยงเข้าไปแลก...ถ้าขึ้นก็จะยิ่งซ้ำเติม(ให้เงินบาทแข็งค่า)ไม่น่าจะเสี่ยง"นายกิตติพงษ์ ระบุ

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปี จากแรงกดดันที่ได้รับมาตลอดจากเงินทุนที่ไหลเข้านั้น มองว่าหากทางการไม่มีมาตรการโดยตรงที่จะสกัดกั้นการไหลเข้าของเงินทุนแล้ว คาดว่าช่วงสิ้นปีน่าจะได้เห็นค่าเงินบาทที่ระดับ 29.50 บาท/ดอลลาร์ได้ไม่ยาก แต่ปลายปีเงินบาทอาจรีบาวน์ขึ้นจากการที่นักลงทุน take profit ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนไหลกลับออกไปบ้าง

"ถ้ามองแนวโน้มหากไม่มีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ ก็น่าจะหลุด 30 บาท มันเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของไทยด้วยที่ยังบวกค่อนข้างมาก น่าจะหลุดมาที่ 29 บาทได้ แต่แนวโน้มหลักต้องขึ้นอยู่กับเงินทุนไหลออกด้วย เพราะช่วงปลายๆ ปีน่าจะมีการรีบาวน์จากการ take profit" นักเศรษฐศาสตร์ บล.นครหลวงไทย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

พร้อมมองว่า การที่ ธปท.จะออกมาตรการโดยตรงเพื่อมุ่งสกัดเงินทุนไหลเข้าไทยอาจทำได้ยาก ดังนั้นแนวทางที่พอจะเป็นไปได้คือภาครัฐจะต้องออกมาตรการเฉพาะเพื่อช่วยเหลือเป็นรายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ซึ่งจะตรงจุดมากกว่า

"ถ้าแก้โดยตรงลำบาก จะสู้กับกับ flow มันก็ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของแบงก์ชาติ อาจจะโดนโจมตีได้ การออกมาตรการแทรกแซงโดยตรงน่าจะทำได้ยากแล้ว น่าจะเป็นการที่รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือรายกลุ่มโดยตรงมากกว่า การสะกัดเงินทุนไหลเข้าคงไม่น่าทำได้" นายกิตติพงษ์ ระบุ

ด้านนายพงศ์พัฒน์ คุโรวาท เจ้าหน้าที่บริหาร Assistant Vice President ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ยอมรับว่า การตัดสินใจของ กนง.ในการกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่มีน้ำหนักมากพอๆ กันที่จะทำให้ กนง.ตัดสินใจได้ทั้งปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือคงดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ในมุมของการรักษาอัตราดอกเบี้ยให้กลับเข้าสู่ระดับปกติ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังต่ำกว่าหลายประเทศ กนง.ก็อาจจะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% แต่หากพิจารณาจากปัจจัยในภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด ทั้งจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ และค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในขณะนี้ ก็น่าจะทำให้ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 1.75%

นายพงศ์พัฒน์ มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้กลับสู่ระดับปกตินั้นอาจยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนในช่วงเวลานี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อจนถึงสิ้นปีเริ่มมีทิศทางชะลอลง และในมุมของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นหากขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนี้ก็ยิ่งจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่องส่งผลให้เงินบาทยิ่งแข็งค่ามากขึ้นอีก

"ถ้าดูตามหลักวิชาการ คิดว่าถ้าการที่ กนง.ตั้งเป้าจะทำให้ดอกเบี้ยกลับสู่ระดับปกติก็คงจะตัดสินใจขึ้น แต่พอมาเจอปัญหาผู้ส่งออกกดดันผ่านรัฐบาล ขณะที่กระทรวงคลังไม่เห็นด้วยที่จะรีบขึ้นดอกเบี้ย กนง.ก็อาจจะลังเลได้...เป้าหมายที่จะทำให้ดอกเบี้ยกลับสู่ระดับปกตินั้น จริงๆ แล้วยังไม่จำเป็นต้องทำในครั้งนี้ ค่อยไปขึ้นอีกครั้งปลายปีหรือต้นปีหน้าก็ได้"นายพงศ์พัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่าการประชุม กนง.ที่เหลืออีก 2 ครั้งภายในปีนี้ กนง.อาจจะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียว คือในรอบวันที่ 1 ธ.ค.53 โดยปรับขึ้นอีก 0.25% ซึ่งจะทำให้ ณ สิ้นปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ไม่เกิน 2.00%

ส่วนทิศทางค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดย ณ สิ้นปี 53 ค่าเงินบาทอาจอยู่ที่ 29 บาท/ดอลลาร์ แต่คงไม่ได้แข็งค่ารวดเร็วเหมือนช่วงที่ผ่านมาแล้ว เพราะจากนี้จนถึงสิ้นปีอาจเป็นช่วงพักฐาน เงินบาทน่าจะผันผวนและกลับมาอ่อนค่าได้บ้าง

"ไม่คิดว่าบาทจะลงไวในระดับนี้ไปตลอด เพราะเมื่อพอลงไปถึงจุดหนึ่งจะมีช่วงพักฐาน และกลับมาอ่อน แต่ trend คงแข็งขึ้นเรื่อยๆ ไปอีกสักระยะ...ปัจจัยหลักๆ คงเป็น flow สภาพคล่องในโลกที่ยังมี การคาดการณ์การเติบโตในเอเชียยังดีกว่าอเมริกา รวมทั้งข่าวที่สหรัฐฯอาจมี QE รอบ 2 มันมีทั้งประเด็นข่าวและประเด็นปัจจัยพื้นฐาน แต่ประเด็นข่าวนี้จะเป็นตัวทำให้ค่าเงินบาท swing ไปมา แต่โดยปัจจัยพื้นฐานจะเป็นตัวสุดท้ายทำให้บาทมีแนวโน้มแข็งขึ้น" นายพงศ์พัฒน์ กล่าว

*เอกชนเชื่อบาทแข็งต่อไม่หยุด วอนตรึง ดบ.ชะลอเงินทุนไหลเข้า

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า เงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 29 กว่าๆ ถือว่าเร็วกว่าที่คาดมาก เพราะก่อนหน้านี้เมื่อประมาณเดือนส.ค.53 เงินบาทยังอยู่ที่ระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ เราคาดการณ์ว่าเงินบาทมีโอกาสหลุดระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ แต่คิดไว้ว่าจะเป็นตอนปลายปี

"เงินบาทหลุด 30 บาท/ดอลลาร์ เร็วกว่าที่ผมคิดมาก ผมคิดว่าปลายปี ตอนนั้นที่เราคุยกันเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เงินบาทยังอยู่ที่ระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ มาวันนี้ไม่ถึง 2 เดือนดี ลงมาอยู่ที่ระดับ 29 กว่าๆแล้ว...คาดว่าต้นปี 54 มีโอกาสได้เห็น 28.50 บาท/ดอลลาร์แน่นอน ไม่รู้จะเร็วกว่าที่คิดอีกหรือเปล่า และคิดว่าเงินบาทไม่มีทางอ่อน เพราะมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯประกาศชัดเจนแล้วว่าจะให้ Export เพิ่ม เมื่อ Export เพิ่ม ดอลลาร์ก็ต้องอ่อน"นายพรศิลป์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

นายพรศิลป์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความเร็วของการแข็งค่า ส่งผลกระทบรุนแรงมาก วิธีที่ดีคือชะลอการแข็งค่าของเงินบาท เพราะเงินบาทลงไปมากวันละ 5 สตางค์ 8 สตางค์ เชื่อว่าใน 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ผู้ส่งออกคงต้องเหนื่อย โดยเฉพาะผลที่มีต่อความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง

"เงินบาทถ้าแข็งค่าวันละ 1 สตางค์ 2 สตางค์ยังรับได้ แต่นี่ร่วงทีนึง 10 สตางค์ 5 สตางค์ มันไม่ได้ คนขายของไม่ถูก ขายล่วงหน้ายังไม่ได้เลย ส่งมอบเดือนนึงก็ยังไม่กล้าทำ เพราะสถานการณ์บาทแข็งลงมาเรื่อยๆ ทุกวัน แค่เดือนกว่าๆ ลงมาประมาณ 2 บาท แข็งค่าประมาณ 8% ส่วนคนอื่นมาเลเซีย สิงคโปร์ก็ยังแข็ง แต่ก็ไม่เร็วแบบเรา

แต่อะไรไม่สำคัญเท่าเวียดนาม คู่แข่งสำคัญของเราค่าเงินอ่อนค่าลงไปอีก บวกลบแล้วตอนนี้ค่าเงินเวียดนามอ่อนค่ากว่าเราประมาณ 10% ถ้า 10% แบบนี้แล้วเราต้องขายของเดียวกันแข่งกับเวียดนามจะสู้ได้ยังไง" นายพรศิลป์ ระบุ

นายพรศิลป์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แนวทางของความอยู่รอดในสถานการณ์ที่เงินบาทยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง มีอยู่หลายประเด็น คือ ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อยังไม่น่ากังวล

"อย่าขึ้นดอกเบี้ยเด็ดขาด คงไว้ที่ 1.75% จนกว่าจะดีขึ้นอีก 2-3 เดือนข้างหน้าซึ่งหวังว่าจะดีขึ้น"นายพรศิลป์ กล่าว

นอกจากนั้น ภาคเอกชนจะต้องปรับตัวหันไปใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ, ไม่ควรทำสัญญาขายหรือซื้อด้วยการ Fix อัตราแลกเปลี่ยน, ตกลงขายสินค้าในช่วงสั้นๆ ส่งออกภายในเดือนเดียว อย่าขายล่วงหน้า และควรหาทางไปลงทุนในต่างประเทศ เก็บเงินไว้ในต่างประเทศ

ขณะที่รัฐบาลก็อย่ามัวแต่ไปคิดเรื่องอื่น เช่น รถเมล์ NGV 4 พันคัน แต่จะต้องคำนึงถึงการแข่งขันสินค้าเกษตรไทยในตลาดส่งออก หากค่าเงินบาทยังแข็งกว่าเงินดองของเวียดนามถึง 10% ดังนั้นเรื่องวิธีการปลูกการผลิตฤดูต่อฤดูต้องมีการปรับปรุง และต้องลดต้นทุนอย่างเดียวไม่มีทางอื่น

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า มองว่าเงินบาทคงหยุดแข็งค่ายาก คาดว่าคงจะเห็น 29 บาท/ดอลลาร์ในปีนี้ ดังนั้นภาวนาให้ ธปท.อย่าได้ขึ้นดอกเบี้ยเด็ดขาด เพราะถ้าประกาศขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ สถานการณ์คงจะยิ่งแย่กว่านี้

ส่วนแนวทางแก้ไขอื่นๆ ผู้ส่งออกก็พยายามปรับตัวอย่างที่ธปท.แนะนำ อยากให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาแล้ว ดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม

"ธปท.บอกให้เราปรับตัว ก็ปรับกันจนไม่รู้จะปรับยังไงแล้ว อยู่ที่มาตรการของรัฐที่จะออกมาช่วยเหลือผู้ส่งออก มาตรการอะไรบ้างที่ทำได้จริงๆ เช่น การลดเบี้ยให้บริษัทที่ทำการส่งออก หรือ การ Hedge เงินต่างๆ จะสามารถช่วยรายกลางรายย่อยได้มากน้อยแค่ไหน เพราะจริงๆ มาตรการต่างๆ ที่ออกมาก็เป็นสิ่งที่เราพูดคุยกันมาหลายเดือนแล้ว"นายชูเกียรติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ