รัฐตีปีกหลังกำลังการผลิตปิโตรเลียมในประเทศสูงถึง 2.5 แสนบาร์เรล/วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 7, 2010 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศได้สูงถึง 250,000 บาร์เรล/วัน โดยสาเหตุที่พบน้ำมันในประเทศมากขึ้นเนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ให้สัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมในรอบที่ 19 และ 20 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงนั้นประมาณปี 2546-2547 เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกขยับขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันอยู่ประมาณ 30 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากนั้นก็ขยับสูงขึ้นมาโดยตลอดจึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในแหล่งขนาดเล็กทั้งบนบกและทะเล

ทั้งนี้ ในแหล่งนาสนุ่น จ.เพชรบูรณ์ ทางผู้ขุดเจาะได้มีการสำรวจเพิ่มเติมพบว่ามีศักยภาพการผลิตเพิ่มอีก 2,000 บาร์เรล/วัน จากปัจจุบันผลิตได้ 6,000-7,000 บาร์เรล/วัน และในแหล่งบูรพา จ.สุโขทัย ยังมีการสำรวจและคาดว่าจะมีศักยภาพการผลิต 1,000 บาร์เรล/วัน แต่ในแหล่งปัตตานีของเชฟรอนในอ่าวไทย ล่าสุดได้รับรายงานว่ามีการขุดเจาะสำรวจ 3 หลุม แต่ไม่พบปิโตรเลียม ซึ่งการลงทุนสำรวจแต่ละแหล่งจะมีมูลค่าสูงประมาณ 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างรวบรวมแหล่งปิโตรเลียมที่ภาคเอกชนคืนพื้นที่เนื่องจากสำรวจไม่พบ และรวบรวมพื้นที่อื่นๆ โดยหากพบว่ามีศักยภาพที่เหมาะสมก็อาจจะเสนอต่อคณะกรรมการปิโตรเลียมที่มี รมว.พลังงาน เป็นประธาน เพื่อเปิดสัมปทานรอบใหม่ที่ 21 ในปี 2554 ซึ่งคาดว่าจากราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้นอาจทำให้เกิดความน่าสนใจในการผลิตและสำรวจเพิ่มขึ้น

อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ล่าสุดบริษัท นูคอสตอล ผู้ได้สิทธิ์สำรวจปิโตรเลียมในแหล่ง G5/50 ในอ่าวไทย ซึ่งจะมีหลุมเจาะ 2 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียงเกาะสมุย โดยไกลออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 42 กิโลเมตร และ 11 กิโลเมตร ได้ยื่นขอขยายระยะเวลาการสำรวจจากเดิมจะต้องเจาะสำรวจใน 2 หลุมนี้ในเดือน ธ.ค.53 ขอเลื่อนระยะเวลา 1 ปี เนื่องจากประสบปัญหาการจัดทำรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ยังไม่แล้วเสร็จ และประชาชนในพื้นที่คัดค้านการเจาะสำรวจ โดยเรื่องนี้จะเสนอให้คณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าขั้นตอนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่กรมฯ ดูแลนั้นมีมาตรฐานการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างดี โดยมีทั้งกฎหมายปิโตรเลียมและกฎหมายสิ่งแวดล้อมดูแล ประกอบกับพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมของไทยขนาดเล็ก แม้ว่าหากจะมีปัญหาการเจาะสำรวจก็จะไม่กระทบเหมือนกับอุบัติเหตุในอ่าวเม็กซิโกของบีพีแต่อย่างใด เพราะที่นั่นเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ล่าสุดจากที่เกิดปัญหากับบีพี ทางสถานทูตสหรัฐในประเทศไทยได้ทำหนังสือมาถึงกรมฯ เพื่อขอข้อมูลในการควบคุมการเจาะปิโตรเลียม เพื่อนำไปปรับใช้ในอเมริกา เพราะขั้นตอนการดูแลตามกฎหมายของไทยเข้มงวดกว่าสหรัฐอย่างมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ