รัฐหวังไทยเป็น Logistics Hub ในอาเซียน เพิ่มศักยภาพธุรกิจสู่ระดับสากล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 7, 2010 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานแสดงสินค้าโลจิสติกส์ 2553 พร้อมระบุว่า ประเทศไทยมีมูลค่าการตลาดด้านโลจิสติกส์ประมาณ 800,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งหากเพิ่มมูลค่าได้ 20% จะเพิ่มเป็น 900,000 ล้านบาท/ปี ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตอย่างมั่นคง และจะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Logistics Hub ของอาเซียนได้

สำหรับการจัดงานแสดงสินค้าโลจิสติกส์ 2553 (The 7th Thailand International Logistic Fair 2010) ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้กรอบแนวคิด ASEAN LOGISTICS NETWORK >>> Gateway to the World โดยจะเป็นเวทีที่สำคัญอีกเวทีหนึ่งในการสร้างพันธมิตรทางการค้าต่างประเทศ และแสดงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งภูมิภาค

การจัดงานในปีนี้ได้รับการตอบรับดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมแสดงสินค้าจากบริษัทชั้นนำด้านโลจิสติกส์จากทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงานถึง 190 บริษัท 418 คูหา อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม FIATA World Congress ซึ่งมีสมาชิกกว่า 40,000 บริษัท จาก 150 ประเทศทั่วโลก โดยผู้ประกอบการโลจิสติกส์ชั้นนำจากทั่วโลกจะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม พร้อมร่วมกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างสมาชิก FIATA กับผู้ประกอบการไทยในงาน TILOG 2010 อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการ Thailand: ASEAN Logistics Networks เพื่อนำเสนอศักยภาพของไทยในด้านการเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์ในอาเซียน การจัดสัมมนา Logistics Symposium โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์จากทั่วโลกในหัวข้อที่น่าสนใจ รวมถึงการจัดตลาดนัดแรงงานในธุรกิจโลจิสติกส์ (Job Fair) ซึ่งมีตำแหน่งงานด้านโลจิสติกส์ที่น่าสนใจมากกว่า 1,000 ตำแหน่ง เป็นต้น

"เป็นที่ทราบดีว่ารายได้ของประเทศไทยมาจากการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากการส่งออกสินค้าและบริการที่มีสัดส่วนสูงถึง70% อันเป็นตัวบ่งชี้ว่าไทยเป็น "Trading Nation" หรือชาติแห่งการค้า ไม่ใช่ประเทศเกษตรกรรมพื้นฐานอีกต่อไป แต่เมื่อหันกลับมามองต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยพบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 18.6% ของจีดีพี หากเราสามารถพัฒนาโลจิสติกส์ไทยให้มีความเข้มแข็งและประสิทธิภาพสูงขึ้น ก็จะสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกได้" รมช.พาณิชย์ กล่าว

พร้อมระบุว่า การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่ดีนั้นมิใช่จะมีความสำคัญกับอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานขนาดใหญ่เท่านั้น แต่มีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเช่นเดียวกัน เพราะการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน (Supply Chain) จะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในระดับสูงขึ้นอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ