บล.ธนชาต มองว่า รัฐบาลไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการออกมาตรการเพื่อให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ กระทรวงการคลังได้พูดคุยอย่างจริงจังกับ ธปท. ถึงเรื่องดังกล่าว และคาดว่าจะเสนอมาตรการบางอย่างเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ โดยคาดว่ามาตรการใด ๆ ที่จะออกมาน่าจะมุ่งไปที่ตลาดพันธบัตรและตลาดเงินมากกว่าตลาดทุน ซึ่งจะช่วยบรรเทา มากกว่าสร้างแรงกดดันให้ตลาดทุน
อย่างไรก็ตาม เราจะยังคงเชื่อว่าบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องในระยะยาว และด้วยรัฐบาล หรือธปท. ไม่มีความตั้งใจที่จะสกัดกั้นอย่างจริงจัง ค่าเงินบาทจึงเพิ่มขึ้นมากเกินไปในระยะเวลาสั้น ดังนั้นหน่วยงานที่มีอำนาจจึงคาดว่าจะออกมาตรการเพื่อให้เงินบาทแข็งค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เราเชื่อว่าเงินทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง และบางทีอาจจะมากยิ่งขึ้นในปีหน้า เมื่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณใหม่ (Quantitative Easing:QE2) มีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ และภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นเวลาที่มาตรการเงินบาทจะออกมาอยู่ดี และหากมาตรการไม่แข็งแกร่งพอ เงินทุนน่าจะยังคงไหลเข้ามากขึ้นในปีหน้า
บล.ธนชาต ระบุว่า กระทรวงการคลังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มาตรการที่จะออกมาจะไม่เหมือนกับมาตรการการควบคุมเงินทุนที่ออกมาเมื่อปี 2006 ซึ่งพุ่งเป้าไปยังตลาดการเงินทั้งหมด และด้วยความจริงที่ว่าตลาดตราสารหนี้มีขนาดใหญ่กว่าตลาดทุนอย่างมาก และมีกระแสเงินไหลเข้ามามากกว่ามาก ดังนั้น มาตรการที่จะออกมาน่าจะมุ่งเน้นไปยังตลาดตราสารหนี้และตลาดเงินมากกว่าตลาดทุน
เราไม่ทราบแน่ชัดว่ามาตรการที่จะออกมาคืออะไร แต่เราเดาว่าน่าจะเกี่ยวกับการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือการเก็บภาษีจากกำไรจากการลงทุนในระยะสั้นของเงินทุนต่างชาติ จากความเห็นของนายกรณ์ จาติกวานิช รมว.คลังเมื่อเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว มีการคาดการณ์ว่าจะมีการออกมาตรการโดยตรงเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ถูกผลกระทบ และมาตรการเพื่อส่งเสริมให้เงินไหลออก
หากมาตรการยังคงมุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ส่งออกและการส่งเสริมการให้เงินไหลออกเพียงอย่างเดียว เราไม่คิดว่าจะสามารถช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วได้ และทำให้ในที่สุดแล้วรัฐบาลจะต้องออกมาตรการเชิงรุกมากขึ้นออกมาเพื่อพุ่งเป้าโดยตรงไปยังเงินทุนไหลเข้า มุมมองนี้าประเมินภายใต้ความเชื่อที่ว่าเงินจะยังคงเข้ามาในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย มากขึ้นในปีหน้า
นอกจากนี้ ยังคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเลื่อนออกไปจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 20 ต.ค.แต่ยังคงมีการประชุม กนง.(1 ธ.ค.)อีกครั้งก่อนสิ้นปี ขณะที่การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นจะทำให้เกิดแรงกดดันเล็กน้อยต่อค่าเงินบาทมากขึ้นไปอีก อัตราเงินเฟ้อในเดือนล่าสุด(เดือนก.ย.) ยังคงอยู่ที่เพียง 3% ต่ำกว่าที่คาดไว้
อัตราเงินเฟ้อไม่ใช่ภัยคุกคามที่แท้จริงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะอันใกล้นี้ และการแข็งค่าของเงินบาทแข็งทำให้เงินเฟ้อปรับขึ้นช้าลง ธปท. จึงมีโอกาสที่จะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป ในระยะสั้นนี้อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ ธปท. ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น แต่ ธปท. ต้องการที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับขึ้น เนื่องจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับติดลบค่อนข้างมากที่ 2.3%
เราคาดหวังว่า 1) เงินทุนจะยังคงไหลเข้าในระยะยาวและมากขึ้นในปีถัดไป 2) มาตรการเงินบาทจะออกมาในสัปดาห์นี้ และหากไม่ได้พุ่งเป้าโดยตรงไปที่การไหลเข้าของเงิน เงินทุนน่าจะยังคงไหลเข้ามาอีกในอนาคต 3) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 20 ต.ค. น่าจะเลื่อนออกไป แต่ยังคงมีแนวโน้มขาขึ้นเหมือนเดิม 4) ตลาดทุนจะไม่ใช่เป้าหมายหลักของการออกมาตรการเงินบาท และมาตราการใดๆ ที่จะประกาศออกมาจะช่วยบรรเทา มากกว่าสร้างแรงกดดันให้ตลาดทุน
ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุว่า หลังจากมีข่าวว่าจะมีการประชุมครม.ในวันอังคารเกี่ยวกับประเด็นค่าเงินบาท แน่นอนว่าตลาดก็จะต้องชะลอ หรือมีการปรับฐานก่อนล่วงหน้าแน่นอน เพราะนักลงทุนบางส่วนก็เลือกที่จะขายออกเพื่อที่จะลดความเสี่ยงจากมาตรการที่จะออกมา สิ่งที่ต้องพิจารณาเพื่อกำหนดกลยุทธ์คือ ลักษณะของมาตรการนั้นมีความเข้มข้นมากน้อยขนาดไหน
ถ้ามาตรการเป็นเช่นเดียวกับบราซิลคือมีการเก็บภาษีสำหรับเงินลงทุนในพันธบัตร เราประเมินว่าผลกระทบอาจมีไม่มากนักต่อตลาดหุ้นไทย เพราะจริงๆแล้วทางการไทยไม่สามารถฝืนกระแสเงินทุนโลกได้อยู่แล้ว เพียงแต่อย่าให้แข็งมากกว่าเพื่อนบ้านเกินไปเท่านั้น