นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่าการที่กระทรวงการคลังเตรียมเก็บภาษีกำไรต่างชาติที่ลงทุนตลาดตราสารหนี้ อัตรา 15% อาจส่งผลให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่มองว่าเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น และคงไม่ทำให้เงินทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนหายไปมากนัก
อย่างไรก็ตาม มองว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นขณะนี้ไม่ได้มาจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเท่านั้น แต่เป็นไปตามทิศทางเงินทุกสกุลที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ดังนั้น มาตรการที่ออกมาคงเป็นเพียงมาตรการที่ชะลอและสกัดกั้นเงินระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไรเท่านั้น ซึ่งคงต้องตามมาตรการที่ชัดเจนของรัฐบาลก่อน
"ผมมองว่าไม่ใช่มาตรการภาษี แต่เป็นเรื่องที่ก่อนหน้านี้มีการยกเว้นภาษีให้ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทย เพราะต้องการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ แต่เมื่อตอนนี้ตลาดโตมากขึ้นแล้ว ก็กลับมาจัดเก็บภาษี...ทุกคนรอดูมาตรการที่ชัดเจนจะเป็นอย่างไร หากมีแค่ withholding tax 15% ก็คิดว่ามีผลแค่ระยะสั้น" นายธิติ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
ด้านนักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยนครหลวงไทย มองว่า หากมีการจัดเก็บภาษีกำไร 15% จากการลงทุนในตราสารหนี้ จะมีผลแรง เพราะเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาช่วงนี้ 70-80% เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ อาจมีผลทำให้เม็ดเงินใหม่ไม่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ ในขณะที่เม็ดเงินลงทุนเดิมอาจทยอยถอนเงินลงทุนออกไปได้
ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลทำให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าได้ อย่างน้อยกลับมายืนเหนือระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ได้ และน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับนี้
"ส่วนตัวมองว่าเป็นมาตรการค่อนข้างแรง เพราะการเก็บภาษี 15%ไม่เหมาะกับตลาดบ้านเรา เพราะตลาดบ้านเรายังเล็ก การเก็บภาษีจะทำให้เสียสมดุลของตลาดได้...การมุ่งไปที่ตลาดตราสารหนี้มีผลมาก อาจทำให้ตลาด swing และน่าจะเป็นมาตรการอาจมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร"นักวิเคราะห์ ระบุ