นายเชาวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์(สพน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สพน.ได้ศึกษาความพร้อมและสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พื้นที่เป้าหมายไว้หลายแห่ง
โดยเบื้องต้นหากต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต้องใช้งบลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาทสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งหากเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ แล้วนับว่าเป็นเงินลงทุนที่ไม่สูงจนเกินไปนัก
ปัจจุบันความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีมาตรฐานสูงขึ้นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีมาตรการควบคุมดูแลระบบต่างๆ อย่างเข้มงวด ตลอดจนด้านความแข็งแรงของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ มีการทดสอบโดยใช้เครื่องบินขับพุ่งชนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ผลปรากฏโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างไม่ได้รับความเสียหายแม้แต่น้อย
นอกจากนี้ การดำเนินงานด้านการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ยังเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งพบว่าจำนวนผู้ที่ให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น
"ปัจจุบันได้มีการสนับสนุนและผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จากภาคเอกชนหลายฝ่ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีเพียงประชาชนบางกลุ่มที่ยังคงฝังใจในอดีตกับอุบัติเหตุการระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในประเทศรัสเซีย ซึ่งผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้ว" รองผู้อำนวยการ สพน. กล่าว
พร้อมระบุว่า ประเทศไทยจะสามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่นั้น ประเด็นสำคัญคือต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่และทั้งประเทศ การชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้านให้กับประชาชนมีส่วนสำคัญมาก ทั้งนี้หากต้นปี 54 มีการตัดสินใจก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต้องใช้เวลาดำเนินการอีก 10 ปี คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ภายในปี 63