(เพิ่มเติม1) ครม.ผ่านร่างกฎหมายภาษีสิ่งแวดล้อม แต่สั่งคลังปรับปรุงในรายละเอียด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 12, 2010 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ.มาตรการทางการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ให้โอกาสรัฐบาลมีเครื่องมือทางด้านการคลัง เช่น ภาษี ค่าธรรมเนียม และมาตรการจูงใจต่างๆ เพื่อดูแลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม

แต่เนื่องจากร่างกฎหมายที่กระทรวงการคลังเสนอมายังขาดรายละเอียดบางส่วน ครม.จึงมอบหมายให้นำกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม เช่น มาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังให้พิจารณาว่ากลไกที่เกิดจากกฎหมายฉบับนี้จะไม่ไปซ้ำซ้อนกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้งในส่วนของคณะกรรมการและการจัดตั้งกองทุน โดยมอบให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข ไปร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้งก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนี้ กำหนดอัตราภาษีและค่าธรรมเนียม แยกเป็น 1.ภาษีมลพิษทางน้ำ ปีละ 10,000 บาทต่อตันของปริมาณมลพิษ 2.ภาษีมลพิษทางอากาศ ปีละ 2,500 บาทต่อตันของปริมาณมลพิษ 3.ภาษีนักท่องเที่ยว ร้อยละ 15 ของราคาค่าโดยสาร หรือ 1,000 บาทต่อคน

4.ภาษีผลิตภัณฑ์หรือค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 15 ของราคาผลิตภัณฑ์ หรือ 10,000 บาทต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ และ 5.ภาษีหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ ร้อยละ 15 ของราคาหรือ 10,000 บาทต่อหน่วยของปริมาณมลพิษ

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติในหลักการ แต่ยังไม่รลงรายละเอียด โดยหลักการร่างกฎหมายต้องการมีโครงสร้างเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลสามารถใช้มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือในการดูแลและเยียวยา ผลที่เกิดจากมลพิษอันเกิดจากอุตสาหกรรมต่างๆ

ที่ผ่านมามีการประเมินตัวเลขว่า ประเทศไทยมีต้นทุนทางสังคมเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลต้อเข้าไปดูแลและรักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับพิษภัยจากมลภาวะประมาณคนละ 300 บาทหรือคิดเป็น 18,000 ล้านบาท

รมว.คลัง กล่าวว่า ต้นทุนตรงนี้ ในหลักการที่กระทรวงการคลังเสนอเป็นตุ๊กตาให้ครม.จะมีการเก็บภาษีให้ได้เม็ดเงินที่เท่าๆ กันเพื่อนำมาชดเชยค่าใช้จ่ายของรัฐ โดยยึดหลักผู้ที่ผลิตมลพิษจะต้องรับผิดชอบและเยียวยา ซึ่งครม.เห็นชอบในหลักการ

"ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทุกๆ ประเทศ เริ่มใช้หลักการนี้ในการตอบโจทย์ปัญหาสังคมว่า สังคมโดยรวมไม่ควรต้องแบกรับภาระการฟื้นฟูการเยียวยาผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ที่ได้ประโยชน์บางส่วน ใครทำก็ควรรับผิดชอบ" รมว.คลัง กล่าว

รมว.คลัง ระบุว่า สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีการใช้มาตรการภาษีแบบนี้ สัดส่วนรายได้ภาษีในจุดนี้คิดเป็นสัดส่วน 1-6%ของจีดีพี โดยได้ยกตัวอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ถือว่ามีการเก็บภาษีจากมาตรการนี้ได้สูงที่สุด คิดเป็น 11% ของรายได้รวมของรัฐถือว่าสูงมาก ขณะที่ประเทศอื่นๆ อยู่ที่ราว 2-4% เท่านั้น

ในส่วนไทย มองว่า ถ้าจะเก็บภาษีให้เพียงพอกับต้นทุนทางสังคมควรจะต้องเก็บภาษีให้ได้ในสัดส่วนประมาณ 1% ของรายได้ภาษีโดยรวมของประเทศในปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ