(เพิ่มเติม) "กรณ์"เผยจับตาเงินไหลเข้าหากเก็งกำไรทำบาทผันผวนอาจพิจารณามาตรการเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 12, 2010 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลจะพิจารณาออกมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม หากพบว่ามีเงินทุนไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไรและทำให้เงินบาทผันผวน ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องติดตามที่มาและสาเหตุของเงินทุนที่ไหลเข้ามาอย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้จะยังไม่พูดถึงมาตรการภาษีอื่นๆ ที่เข้ามาดูแลค่าเงิน

"เราต้องดูเหตุผลและที่มาของแหล่งเงินที่ไหลเข้ามาว่าเข้ามาโดยวัตถุประสงค์ใด ถ้าเป็นการเก็งกำไร ก็ต้องดูว่าเก็งกำไรที่สร้างความผันผวนเกินไปหรือไม่อย่างไร จึงค่อยมาดูอีกทีว่ามาตรการใดจะเป็นมาตรการเหมาะสม" รมว.คลัง กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนต้องมองและวิเคราะห์จากข้อมูลปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง เนื่องจากสหรัฐฯ มีนโยบายที่ต้องการทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า โดยใช้มาตรการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ในขณะที่ไม่มีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อ ทำให้สหรัฐฯ สามารถให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ เรื่องดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการของไทยต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

"เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ เราจึงต้องมองข้ามช็อตนี้ไป และมองไปต้องถึงการปรับตัวเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเกิดขึ้น" รมว.คลัง กล่าว

สำหรับมาตรการผลกระทบเงินบาทแข็งค่าที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันนี้ นายกรณ์ เชื่อว่า คงไม่ทำให้เงินทุนไหลออกทันที เพราะมาตรการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรและดอกเบี้ยในพันธบัตรรัฐบาลที่ถือโดยนักลงทุนต่างชาติได้กำหนดเฉพาะธุรกรรมใหม่ ไม่ได้มีผลย้อนหลัง แต่ทั้งการจัดเก็บภาษีดังกล่าวและมาตรการเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจลงทุน น่าจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ เพราะหากมีการกระตุ้นให้ลงทุนเพิ่มจะทำให้มีการเข้าซื้อดอลลาร์และขายเงินบาทเพิ่ม

รมว.คลัง เชื่อว่า นักลงทุนต่างประเทศจะมีความเข้าใจในเหตุผลที่รัฐบาลต้องดำเนินการในส่วนนี้ และไม่น่าจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากเดิมรัฐบาลได้เคยเรียกเก็บภาษีดังกล่าวมาอยู่ก่อนแล้ว แต่การที่กลับมาจัดเก็บใหม่ก็จะทำให้เกิดความเสมอภาคกันระหว่างนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ

"ภาษีนี้ มีมาแต่ก่อนอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเรายกเว้นให้ต่างชาติเป็นกรณีพิเศษ ในขณะที่นักลงทุนไทยยังต้องเสียภาษี เพราะฉะนั้นก็เท่ากับว่า กลับมาทำให้เสมอภาค ผมมั่นใจว่าในแง่การทำความเข้าใจโดยรวมต่อการยกเลิก ยกเว้นภาษีตัวนี้ ต่างประเทศจะเข้าใจได้ดี" รมว.คลัง กล่าว

รมว.คลัง กล่าวต่อว่า การที่สกุลเงินของประเทศใดประเทศหนึ่งแข็งค่าขึ้น ย่อมสะท้อนถึงความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ซึ่งหากจะพิจารณาย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อนที่จะเกิดภาวะวิกฤติต้มยำกุ้ง สมัยนั้นค่าเงินบาทอยู่ที่ 25 บาท/ดอลลาร์ และการส่งออกมีสัดส่วนอยู่ที่ 30% ของจีดีพี

แต่หลังจากที่ไทยประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจได้ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปถึง 50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นผู้ประกอบการของไทยอาจไม่ต้องปรับตัวมากนัก เพราะส่วนหนึ่งได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ และอีกส่วนคือสินค้าไทยมีราคาถูกลงไปครึ่งหนึ่งในสายตาของต่างชาติ ซึ่งในช่วงเวลานั้นทำให้ผู้ประกอบการหันมาส่งออกมากขึ้น จนทำให้ ณ วันนี้มูลค่าการส่งออกของไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 65% ต่อจีดีพี

สิ่งเหล่านี้คือการปรับตัวที่เกิดขึ้นหลังจากเงินบาทอ่อนค่าลง แต่ในช่วงเวลานั้น ศักยภาพและมาตรฐานของสินค้าไทย ยังไม่ได้มีการพัฒนามากนัก เพราะได้เปรียบจากเงินบาทที่อ่อนค่า แต่สถานการณ์ในปัจจุบันถือว่ากลับกัน เมื่อเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมาให้ความสนใจกับการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านอื่นนอกเหนือจากด้านราคา

"การขายของถูกอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องขายของดีด้วย ซึ่งการขายของดี จะต้องมีทั้งนวัตกรรม เทคโนโลยี กระบวนการผลิตที่ทันสมัย นี่คือการปรับตัวที่ประเทศอื่นเคยทำให้เราดูมาแล้ว" รมว.คลัง กล่าว

ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลเองจะมีหน้าที่ชี้ทางและเปิดทางให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ โดยมีต้นทุนในการปรับตัวที่ต่ำที่สุด

รมว.คลัง กล่าวว่า จากมาตรการภาษีดังกล่าว คงจะไม่ส่งผลให้นักลงทุนย้ายการลงทุนจากตลาดพันธบัตรไปลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มากขึ้น เพราะลักษณะของนักลงทุนใน 2 ตลาดมีความแตกต่างกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ