ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองมาตรการลดผลกระทบบาทแข็งฝืนกระแสไม่ได้ คาดแตะ 28-29

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 12, 2010 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การที่ทางการไทยพิจารณาใช้ Withholding Tax เป็นมาตรการเฉพาะหน้าในการ “ดูแล" ค่าเงินบาทนั้น ในช่วงเวลาหลังจากนี้ คงจะต้องเป็นช่วงเวลาที่ทางการไทย ต้องเร่งดูแลผลกระทบทางอ้อมที่อาจมีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งได้เพิ่มการถือครองตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 2.0 แสนล้านบาทแล้วในปัจจุบัน

แม้ตลาดพันธบัตรไทยเป็นส่วนหนึ่งในการกระจายเม็ดเงินลงทุนในภูมิภาคเอเชีย แต่ก็คงต้องยอมรับว่าการดำเนินการทางด้านภาษีเป็นการเพิ่มต้นทุนในการลงทุนในตลาดตราสารหนี้สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่อาจต้องแลกมาด้วยบรรยากาศการลงทุนที่อาจจะชะลอลงบางส่วน เนื่องจากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ก็ไม่ได้ดำเนินการเก็บภาษีในลักษณะแบบนี้กับนักลงทุนต่างชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ามาตรการ “ลดผลกระทบ" จากการแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากการที่รายได้จากการส่งออกของไทยราว 80% อยู่ในรูปเงินดอลลาร์ฯ ดังนั้น การแข็งค่ากว่า 10% ของเงินบาทนับจากต้นปี และอาจแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้าย่อมสร้างข้อจำกัดทางด้านเวลาสำหรับผู้ประกอบการในการปรับตัว พร้อมๆ ไปกับส่งผลกระทบต่อมาร์จิน/อัตราการทำกำไรของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้ว ผลกระทบสุทธิที่มีต่อผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรม อาจมีความแตกต่างกันตามสัดส่วนของการส่งออกต่อการผลิตรวม ความรุนแรงของการแข่งขันในตลาดส่งออก และความสามารถในการกระจายตลาดส่งออกก็ตาม

แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่สามารถฝืนทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งเกิดขึ้นภายใต้กระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ได้ (โดยเงินบาทกลับมาแข็งค่ากว่าระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ) แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า ทางการไทยมีบทบาทสำคัญในการเยียวยาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ผู้ประกอบการได้รับ และช่วยดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้สอดคล้องไปกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยอิงอยู่กับพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะสามารถรักษาอัตราการขยายตัวได้สูงกว่าระดับศักยภาพในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 นำโดย ภาคการส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวสูงกว่า 30% โดยที่ไม่ทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเหมือนในช่วงธันวาคม 2549

อย่างไรก็ดี ทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงเวลาหลังจากนี้ ยังอาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้อ่อนค่าลงอย่างน้อยก็ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า และหากความสัมพันธ์ของทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทและดัชนีเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากภาพที่เกิดขึ้นในช่วงหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองสิ้นสุดลง หรือประมาณในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาแล้ว ก็เป็นที่คาดหมายว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับประมาณ 28.00-29.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้ไม่ยากนัก

การแข็งค่าของเงินบาทไปที่ระดับดังกล่าวในช่วงเวลานั้น อาจนำมาสู่ผลกระทบในวงที่กว้างขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจจริงผ่านการชะลอตัวของภาคการส่งออกที่จำต้องเผชิญกับโมเมนตัมการขยายตัวที่ช้าลงของเศรษฐกิจโลกที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งก็จะเป็นนัยว่า ความคาดหวังที่มีต่อประสิทธิผลของมาตการแก้ไขการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงเวลานั้น ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เครือธนาคารกสิกรไทยคาดว่า เงินบาทอาจยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 29.00 และ 28.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงสิ้นปี 2553 และสิ้นปี 2554 ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ