นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยถึงผลการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ปี 2553 ระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.53 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า กรรมการผู้จัดการ IMF ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยมีประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นผู้นำในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังมีปัญหาอยู่ และเศรษฐกิจโลกเองยังเปราะบางจากความเสี่ยงในด้านต่างๆ เช่น หนี้สาธารณะของประเทศต่างๆ ที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว, ปัญหาการว่างงาน, การปฏิรูปสาขาการเงิน และปัญหาค่าเงินของหลายประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาทั้งหมดจะสามารถทำได้โดยทุกประเทศจะต้องร่วมมือกัน
ด้าน Mr.Robert B. Zoellick ประธานธนาคารโลก ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจโลกภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจว่า มีการเติบโตที่ดีขึ้นแต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติและยังคงมีปัจจัยความเสี่ยงอยู่ โดยมองว่าประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ประเทศต่างๆ ยังต้องประสบกับความไม่แน่นอนในด้านราคาสินค้าอาหาร และภัยธรรมชาติต่างๆ
ประธานธนาคารโลก กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ให้ความช่วยเหลือต่อประเทศสมาชิกในหลายด้าน เช่น การรองรับและบรรเทาความไม่แน่นอนข้างต้น และประเด็นที่สำคัญระดับโลกต่างๆ เช่น การแก้ไขปัญหาโลกร้อน, ความั่นคงทางอาหาร และความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย เป็นต้น
นอกจากนี้ ประธานธนาคารโลกได้กล่าวถึงการปฏิรูปของกลุ่มธนาคารโลกเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ เช่น การเพิ่มอำนาจการออกเสียงและการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนา การเพิ่มทุนของธนาคารฯ การปฏิรูปการบริหารจัดการภายในองค์กร เป็นต้น
รมว.คลังของไทย ยังได้มีโอกาสเข้าร่วมอภิปรายในการประชุมประจำปีของ Institute of International Finance (IIF) ในหัวข้อ "ASEAN: Maintaining Growth, Addressing Challenges, and Tapping Opportunities" โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนต่อเศรษฐกิจโลก และได้ชี้แจงถึงสภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีความท้าทายในเรื่องข้อจำกัดของการใช้จ่ายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
พร้อมมองว่า ประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด และพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างสูง จะยังต้องเผชิญความท้าทายในเรื่องของการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ นายกรณ์ ยังได้เข้าร่วมการประชุมของประเทศสมาชิกกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Group: SEA Group หรือ กลุ่ม SEA) ของธนาคารโลก ซึ่งเป็นการหารือระหว่างผู้ว่าการธนาคารโลกของประเทศสมาชิกของกลุ่ม SEA ประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ฟิจิ อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า เนปาล สิงคโปร์ ไทย ตองก้า และเวียดนาม ร่วมกับผู้ว่าการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศของประเทศสมาชิกของกลุ่ม SEA ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 13 ประเทศ (เพิ่มกัมพูชา และฟิลิปปินส์)
โดยมีประเด็นที่สำคัญที่หารือ ได้แก่ การดำเนินงานของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศต่อวิกฤติเศรษฐกิจโลกและบทบาทในอนาคตในการแก้ไขวิกฤติต่างๆ และความคืบหน้าในการปฏิรูปธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นตลอดจนการเพิ่มความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือ
ท้ายสุด รมว.คลัง ได้เข้าร่วมการประชุม Bali Dialogue เพื่อหารือเกี่ยวกับกลไกด้านการเงิน เพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Financing) โดยมีแนวคิดจัดตั้งกองทุนเรียกว่า Fast Start Finance เพื่อมุ่งเน้นการลดผลกระทบและการรองรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและที่ยากจนมาก ซึ่งประเด็นด้านการเงินจะเป็นหัวข้อสำคัญหนึ่งในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 16 ที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ในเดือนธ.ค.53
รมว.คลัง กล่าวว่า ได้มีโอกาสพบปะนักธุรกิจสหรัฐฯ โดยไทยได้ชี้แจงถึงสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 53 มีอัตราการเติบโตถึง 10.6% และคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยทั้งปีจะอยู่ที่ 7.5% ซึ่งนักลงทุนสหรัฐฯ เห็นว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ดีในปัจจุบันเป็นโอกาสอันดีที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย
นอกจากนี้ นักลงทุนสหรัฐฯ ได้กล่าวสนับสนุนต่อการปฏิรูประบบกรมศุลกากรของไทย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่ง รมว.คลังได้ให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนสหรัฐฯ ว่าจะสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุนอย่างต่อเนื่อง