ก.เกษตรฯ เตรียมแผนรับสถานการณ์ภัยพิบัติปี 54 ทั้งภัยแล้ง-อุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 15, 2010 10:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวางแผน และติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ครั้งที่ 5/2553 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2554 เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

อีกทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัย ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นายเฉลิมพร กล่าวว่า นอกจากนี้ได้มีมติให้มีการจัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจน เพื่อให้ ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรเพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ในช่วงเดือนตุลาคม 2553 - มีนาคม 2554 เน้นด้านปัญหาจากอุทกภัยและภัยแล้ง เนื่องจากสถานการณ์น้ำฝนในปีนี้จะมีปริมาณกว่าค่าปกติประกอบกับมีอิทธิพลจากลานีญา หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

กระทรวงเกษตรฯ จะคอยเฝ้าระวังและติดตามสภาพภูมิอากาศ สภาพน้ำในอ่างอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งการแจ้งเตือนภัยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประเมินผลกระทบและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น ปรับแผนการระบายน้ำจากอ่างฯ การส่งน้ำเข้าระบบชลประทานในพื้นที่การเกษตร การเสริมประสิทธิภาพของอาคารชลประทาน เสริมคันกั้นน้ำ คันคลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เป็นต้น

สำหรับด้านปัญหาภัยแล้งซึ่งอาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง โดยจะทำการบินปฏิบัติการฝนหลวงตามแผน และตามที่ได้รับคำร้องขอตามความเร่งด่วนหรือความรุนแรงของปัญหาภัยแล้ง

ระยะที่ 2 ในช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2554 เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยและฝนทิ้งช่วง ในด้านของอุทกภัย โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก และคาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเดือนสิงหาคม และกันยายน ในบริเวณภาคเหนือ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

การป้องกันและลดผลกระทบ จะมีการจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย การก่อสร้างและปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาจากอุทกภัย ได้แก่ การพัฒนาโครงการแก้มลิง การขุดลอกและกำจัดวัชพืช การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเกิดภัยจะมีการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น ปรับแผนการระบายน้ำจากอ่างฯ การ ส่งน้ำเข้าระบบชลประทานในพื้นที่การเกษตร การเสริมคันกั้นน้ำ /คันคลองส่งน้ำ/ คลองระบายน้ำ การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ

ส่วนกรณีของฝนทิ้งช่วง กระทรวงฯ ได้จัดทำมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งต่อเนื่องจากในช่วงระยะ ที่ 1 และเตรียมความพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง อาทิ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 5 ศูนย์ 8 หน่วยปฏิบัติการ แผนเพิ่มปริมาณน้ำฝนในช่วงต้นฤดูฝน แผนบรรเทาฝนทิ้งช่วง และแผนเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่ โดยมอบหมายให้กรมชลประทานได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมถึงได้ประสานงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เพื่อปรับแผนการระบายน้ำ รวมถึงการเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และรถบรรทุกน้ำ

ทั้งนี้ คาดว่า แผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติฯ จะเป็นแนวทางการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ