นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารกลางหลายประเทศในเอเชียได้มีการติดต่อกันโดยตรงเพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในการเตรียมมาตรการแก้ปัญหาค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
"เราไม่แคร์ไอเอ็มเอฟ เพราะตอนนี้เรามีทุนสำรองมาก อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ไอเอ็มเอฟด้วยซ้ำ เวลานี้ไอเอ็มเอฟอ่อนแอด้วย จึงไม่มีปัญหา"นายประสาร กล่าว
สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือนโยบายการเงินของสหรัฐ ซึ่งใน 2-3 วันนี้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อาจจะมีการอัดสภาพคล่องเข้าระบบภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) แต่ก็ไม่ได้มีใครสามารถทำนายได้จุดดุลยภาพอยู่ตรงไหน และหากสหรัฐใช้มาตรการดังกล่าวก็อาจมีผลกระทบกับไทยได้
รวมทั้งหลายประเทศก็เกิดความกังวล โดยการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารกลางโลกและสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่กรุงวอชิงตันดีซีเมื่อสัปดาห์ก่อนก็หารือเรื่องนี้ และการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G-20 ที่ประเทศเกาหลีใต้ในสัปดาห์หน้าจะมีการพูดเรื่องนี้อีกครั้ง
"ตอนนี้ญี่ปุ่นและบราซิลก็พยายามใช้มาตรการ capital control เป็นยาแรง แต่ประสิทธิผลไม่ค่อยดี เพราะนักลงทุนในสหรัฐต้องการออกไปลงทุนที่ผลตอบแทนที่ดีกว่า เพราะเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปแย่อย่างรุนแรง"นายประสาร กล่าว
อย่างไรก็ตาม การคงอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับใดระดับหนึ่งตามที่มีผู้เสนอแนวคิด น่าจะสร้างความเสียหายมากกว่า ซึ่งอดีตเราก็เคยใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และหลายประเทศก็ยังใช้ แต่จุดหนึ่งสถานการณ์เปลี่ยนแปลง เพราะจะเกิดความเสียหายมากกว่า ปัจจุบันที่ไทยเปลี่ยนมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ มีความคล่องตัวมากกว่า
"แบงก์ชาติเคยใช้มาตรการหลายอย่างพร้อมกัน เช่น นโยบายการเงิน การเคลื่อนย้ายเงินทุน และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในปี 40 เคยใช้มาแล้วพร้อมกัน แต่ตอนนี้มันทำไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวหรืออย่างมากก็แค่สองอย่าง โดยไทยก็ใช้กรอบนโยบายการเงินและดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุน แต่ขณะนี้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นการดูแลระยะสั้นเท่านั้น ระยะนี้เงินไหลเข้ามาเรื่อย ๆ"นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศระดับกลาง ไม่ใช่ประเทศใหญ่ เมื่อช้างสารชนกัน เราเป็นหญ้าแพรกก็ต้องถูกกระทบด้วยอยู่แล้ว ขณะนี้น่าเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะเกิดความชะงักงัน ไทยเองก็จะต้องอาศัยการผสมผสานนโยบายหลายด้านเพื่อดูแลค่าเงินและเศรษฐกิจทั้งการเงินการคลังเพื่อให้เกิดความเหมาะสม และกระทบกับประเทศน้อยที่สุด ซึ่งการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ก็จะมีทั้งประสิทธิผลและผลข้างเคียง
"เวลาอัตราแลกเปลี่ยนแข็งหรืออ่อนก็มีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ กลับกันถ้าเราแทรกแซง สมการก็จะสวิงกลับไปมีผลกระทบกับอีกด้านหนึ่ง เวลานี้ค่าเงินบาทแข็ง ผู้นำเข้าได้ประโยชน์ ขณะที่ผู้ส่งออกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยก็อาจได้รับผลกระทบ"นายประสาร กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากต้องการทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนก็จะต้องส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศ ทำให้หลายด้านเติบโตไปพร้อมกัน แต่ขณะนี้ ธปท.กำลังติดตามตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะการปล่อยสินเชื่อขึ้นมาที่ 80%ของมูลค่าสินทรัพย์แล้ว แต่ตอนนี้ถือว่ายังไม่ถึงขีดอันตราย