TMB คาดบาทแข็งกดส่งออกลด 3.3% ชี้มาตรการชะลอเงินไหลเข้ายั้งบาทแข็งไม่ได้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 15, 2010 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics วิเคราะห์ว่า จากการที่เงินบาทแข็งค่า 10% ส่งผลให้การส่งออกลดลงเฉลี่ย 3.3% ต่อไตรมาส ในขณะที่การนำเข้าจะได้รับผลดีจากอัตราแลกเปลี่ยนเพียงช่วงสั้นๆ แต่ในระยะยาวการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะฉุดการนำเข้าสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตสำหรับส่งออกให้ลดลงตามเฉลี่ยแล้วการนำเข้าจะลดลง 2.5% ต่อไตรมาส

ในฝั่งด้านราคานั้น การที่บาทแข็งค่าจะส่งผลดีต่อระดับราคาโดยรวม การที่นำเข้าสินค้าได้ในมูลค่าเงินบาทที่ถูกลง จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเฉลี่ย 0.9% ต่อไตรมาส และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเฉลี่ย 0.2% ต่อไตรมาส ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยผ่อนคลายความกังวลด้านเงินเฟ้อไปได้บางส่วน

TMB Analytics ระบุว่า มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนไม่สามารถยับยั้งการแข็งค่าของเงินบาทได้ ซึ่งหากย้อนไปในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าในปี 49 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่มีสาเหตุหลักๆ ใกล้เคียงกับปัจจุบัน ทั้งปัจจัยพื้นฐานในประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้น หลังจากมีการปฏิรูปการปกครอง ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียเติบโตดี

ขณะที่การอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น สะท้อนจากยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์พุ่งสูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท (ยอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ปี 49 อยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาตรการเพื่อสกัดการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นเป็นระยะ จนวันที่ 18 ธ.ค.49 ธปท.ให้ยาแรงโดยออกมาตรการสำรองเงินทุน 30% ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างหนัก จนต้องมีการผ่อนคลายเกณฑ์เพื่อบรรเทาผลกระทบทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต่อมา และยกเลิกมาตรการไปในที่สุดในเดือนมี.ค.51 สังเกตได้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่มาตรการมีผลบังคับใช้เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB เชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ส่งออกจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้บ้างขณะที่ การเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรและดอกเบี้ยสำหรับพันธบัตรที่ถือโดยนักลงทุนต่างชาติZWithholding Tax) ที่พุ่งเป้าไปที่การสกัดกั้นความร้อนแรงของตลาดตราสารหนี้ จะมีส่วนช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนได้ในระดับจำกัดเท่านั้นตราบที่ค่าเงินบาทซึ่งเราคาดว่ายังคงมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 54 มีส่วนทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนโดยรวมจากตลาด ตราสารหนี้และอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่น่าสนใจอยู่

นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วนั้น ยังส่งผลกระทบต่อรายได้และต้นทุนของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมส่งออก โดยด้านรายได้นั้น จากที่เงินบาทแข็งค่าทำให้รายได้ที่เป็นเงินบาทลดลงค่อนข้างชัดเจน แต่ในด้านต้นทุนที่จะปรับลดลงจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้วัตถุดิบนำเข้า

จากการวิเคราะห์อัตราส่วนกำไรเบื้องต้น (Profit Margin) ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในช่วงปี 45-51 โดยดูผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาทผ่านโครงสร้างอุตสาหกรรมของตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input—Output Tables) โดยใช้สมมติฐานเงินบาทแข็งค่าขึ้น 10% พบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ โดยเฉพาะที่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศเกือบทั้งหมด แต่ได้รับรายได้จากการส่งออกเป็นเงินบาทที่น้อยลง ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และสินค้าในครัวเรือน Profit Margin จะลดลงไปกว่า 52% ซึ่งหากการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้จนถึง 20% อาจจะทำให้อุตสาหกรรมนี้ประสบกับภาวะขาดทุนได้

อย่างไรก็ตาม มีบางอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท โดยมี Profit Margin เพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลงเพราะส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบนำเข้า ในขณะที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากในประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็กและเหมืองแร่, พลังงาน, สื่อสาร, สาธารณูปโภคพื้นฐาน และเครื่องจักร เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ