นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ในกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า มีการข้อสังเกตว่าการตั้งราคากลางในโครงการดังกล่าวถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่, มีการฮั้วกันหรือไม่, มีการช่วยกันแก้ไขเอกสารในการประกวดราคาหรือไม่ และทางกระทรวงคมนาคม ซึ่งรับทราบว่ามีความผิดปกติ แต่ทำไมไม่มีการทักท้วง และหากมีการทุจริตเกิดขึ้นจริง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เบื้องต้นจะขอเวลาตรวจสอบ 3 สัปดาห์ก่อนสรุปเรื่อง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเอกสารที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ม.) ส่งมาให้ 64 ลัง เบื้องต้นตรวจสอบไปแล้ว 7 ลัง พบข้อพิรุธในเรื่องของการยื่นเอกสารเพื่อประกวดราคาโครงการของบริษัทที่ยื่นประมูลทั้ง 4 บริษัท ที่พบว่าอาจจะมีกระบวนการฮั้วกันเกิดขึ้น
กล่าวคือบริษัทที่ยื่นซองประมูลของโครงการทั้ง 5 ช่วง ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) บมจ. ช.การช่าง (CK) กลุ่มเอสเอช-ยูเอ็น จอยท์เวนเจอร์ ประกอบด้วย บริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น และบมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) บมจ.ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ได้มีการตกลงกันนอกรอบว่าใครต้องการสัญญาในช่วงใด
นอกจากนี้ ยังพบพิรุธใน 2 สัญญาคือ ช่วงวัดเล่งเน่ยยี่ถึงสนามชัย และช่วงสนามชัยถึงท่าพระ ที่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดของโครงการแต่มีการระบุลอยๆ ว่าเป็นดีไซน์แอนด์บิลด์ จึงเป็นที่สังเกตว่าการที่ไม่ระบุในเรื่องของโครงสร้างดังกล่าว อาจทำให้งบประมาณดังกล่าวแพงกว่าความเป็นจริงกว่า 20% หรือ 8,000 ล้านบาท
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการนานกว่า 7 เดือน พบข้อสงสัยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นโครงการเดียวที่มีการขอเพิ่มวงเงินงบประมาณในการก่อสร้างสูงกว่าความเป็นจริงมากโดยไม่มีเหตุผล ในขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงมีการปรับลดงบประมาณลง