ส.อ.ท.-สมาคมการค้าเรียกร้องให้ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.25% ต่อปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 15, 2010 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสมาคมภาคการค้า ร่วมกันออกแถลงการณ์เรื่อง "ท่าทีภาคเอกชนต่อนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยกับสภาวะการแข็งค่าของเงินบาท" โดยมีข้อเสนอแนะ 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย(อาร์/พี) ลง 0.50% ต่อปี ให้เหลือ 1.25% ต่อปี

เนื่องจากเห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในอัตรา 1.25-1.75% ต่อปี ไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อขยายตัวอย่างเป็นนัยสำคัญ เห็นได้จากดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ได้มีการปรับตัวตามอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.อยู่แล้ว กอร์ปกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระหว่างธนาคาร(Interbank) ก็มีอัตราต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย จึงไม่มีเหตุผลให้สถาบันการเงินเร่งการปล่อยกู้ หรือทำให้เกิดการใช้จ่ายจนเป็นปัญหาของฟองสบู่เหมือนในอดีต

อีกทั้งแนวความคิดต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขอให้ ธปท.อย่ามีการปรับอัตราดอกเบี้ยโดยใช้เหตุผลของเรื่องเงินเฟ้อ เนื่องจาก ปัจจุบันประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.4% และเงินเฟ้อพื้นฐานก็อยู่ในอัตราที่ต่ำมาก คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปปี 2554 จะอยู่ที่ 3.2% ถึงแม้ว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจะมีการติดลบบ้างก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่เป็นนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศไทย

ขณะที่สภาวะความไม่ปกติของการไหลเข้าของเงินต่างประเทศ ภายใต้ความแปรปรวนของระบบการเงินโลก ธปท. ไม่ควรใช้นโยบายการเงินในการควบคุมเงินเฟ้อ

และภายใต้วิกฤติ Currencies War Crisis ธปท.ไม่ควรใช้ดอกเบี้ยนโยบายสูง และไม่สามารถปล่อยระบบการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนไปตามกลไกตลาด เพราะมีปัจจัยตัวแปรจากการเข้ามาเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน และการปั่นเงินผ่านตลาดทุนและตราสารหนี้

2.มาตรการต่างๆ ทั้งของกระทรวงการคลัง และ ธปท. ที่ออกมาแล้ว ขอให้ผลักดันให้มีผลในทางปฏิบัติ การตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง ซึ่งไม่ใช่มีแต่มาตรการแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ซึ่งต่างชาติจะเห็นช่องโหว่และเร่งเข้ามาเก็งกำไร เช่น การชำระค่าระวางเรือและค่าสินค้า ซึ่งยังติดปัญหาด้านเทคนิคกับกรมสรรพากร รวมถึง การปล่อยสินเชื่อภายใต้โครงการ Packing Loan และ Soft Loan ขอให้มีการกำหนดการพิจารณาหลักประกันในลักษณะผ่อนปรนหลักประกันหรือ PSA ฯลฯ

3.ขอให้ ธปท.ส่งสัญญาณอย่างจริงจังในการดูแลไม่ให้เงินผันผวนไปตามการเก็งกำไร

4.ขอให้ ธปท.เข้มงวดเงินที่เข้ามาในลักษณะเก็งกำไรทั้งในตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ โดยอาจจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาตรวจสอบติดตามและควบคุมเงินเข้าและออกซึ่งมีลักษณะเก็งกำไร โดยเฉพาะควรต้องเพิ่มแบบฟอร์มให้นักลงทุนต่างชาติต้องระบุว่าจะนำมาเงินมาใช้ในกิจกรรมใด ในธุรกิจประเภทใด และ เมื่อมีการนำเงินออก แหล่งที่มาของรายได้นั้นมาจากใด เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมมีความเข้มงวดรัดกุม

5.ขอให้ ธปท.ออกกฎเกณฑ์ควบคุมและจำกัดจำนวนเงินกู้ยืม และแลกเปลี่ยนเงินบาทของสถาบันการเงิน และ/หรือ ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการเงิน รวมถึงบริษัทในเครือ ในการจำกัดการกู้เงินบาทไปแลกดอลลาร์ เพื่อเป็นการจำกัดการเก็งกำไรเงินในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่ซื้อขายในต่างประเทศ

6.ขอให้ ธปท. และกระทรวงการคลัง ร่วมมือในการหามาตรการที่เข้มข้นเพิ่มขึ้นกว่าที่ออกมาแล้ว โดยใช้นโยบายทั้งการเงิน และการคลัง สอดประสานในการสกัดกดดัน เพื่อลดการนำเงินเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น

และ 7.ขอให้พิจารณาดำเนินการออกมาตรการชั่วคราวในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของเงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศ ในอัตรา 2.0-4.0% ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศที่ทำอยู่ อาทิ อินโดนีเซีย เพื่อลดการไหลเข้าของเงินจนกว่าจะอยู่ในสภาวะปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ