(เพิ่มเติม) สศค.คาด 9 เดือนบาทแข็ง 10% กระทบจีดีพีแล้ว 0.7%,รับศึกษา Tobin Tax

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 18, 2010 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าไปถึง 10% ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยไปแล้วประมาณ 0.7% ซึ่งอาจทำให้จีดีพีในปีนี้เติบโตได้ไม่ถึง 7% ตามเป้าหมาย แต่ในปีหน้ายังเชื่อว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 4.5% ภายใต้คาดการณ์ค่าเงินบาททรงตัวในระดับ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนการนำมาตรการภาษีมาใช้ดูแลค่าเงินบาทนั้น สศค.ยอมรับว่ามีการศึกษาภาษีมาตรการภาษีเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า เช่น Tobin Tax เพื่อควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินทุนต่างประเทศ แต่จะนำมาใช้หรือไม่นั้น ขึ้นกับระดับนโยบายเป็นผู้ตัดสินใจ แต่มาตรการภาษีที่ออกมาแล้วก่อนหน้านี้และการมีมาตรการช่วยเหลือ SME คงต้องใช้เวลาในการดูผลของมาตรการดังกล่าว เนื่องจากบางเรื่องต้องใช้ระยะเวลา

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเงินบาทปรับตัวแข็งค่าไปแล้ว 10.41% ประเมินว่าจะกระทบกับจีดีพี 0.7% ทำให้ทั้งปีเศรษฐกิจคงเติบโตไม่ถึง 7% ตามที่ประมาณการไว้ ขณะที่ปี 54 สศค.ยังประมาณการเศรษฐกิจเติบโต 4.5% ภายใต้บาททรงตัว

เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก 1% จะกระทบกับการส่งออกราว 0.4% แต่อยู่ภายใต้ที่ค่าเงินของประเทศคู่ค้าไม่แข็งค่าตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กระทบต่อภาคการเท่องเที่ยว ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทั้งจากในภูมิภาคเอเชีย และจากยุโรป

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ไม่ว่าจะคงดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ย คงจะช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้าได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ที่สุดแล้วเงินทุนก็คงจะไหลเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี ประกอบกับการตัดสินใจของนักลงทุนไม่ได้มีเรื่องอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แม้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในระดับจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ทั้งธนาคารกลางสหรัฐก็พร้อมจะเข้าไปซื้อพันธบัตรเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง ก็จะทำให้เงินทุนไหลเข้ามาในไทย ขณะที่ประเทศในยุโรป สหรัฐและญี่ปุ่น พร้อมจะทำ QE

การที่ กนง.จะมีการคงดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยนั้น หากลดดอกเบี้ยก็จะช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้าระดับหนึ่ง แต่ในระยะยะยาวสหรัฐก็จะมีการกดดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งจะทำให้โอกาสที่เงินไหลเข้าก็ยังมีอีก ดังนั้น ในเมื่อประเทศที่เราต้องพึ่งพาการส่งออก ก็ต้องวางแนวทางในการเรื่องของการส่งเสริมให้เงินทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างกการหาหน่วยงานเป็นที่พี่เลี้ยงส่งเสริมการออกไปลงทุนต่างประเทศ คาดว่าจะมีข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ จะวางแนวทางเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอาศัยจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการปรับปรุงเครื่องจักร และปรับปรุงประสิทธิภาพการแข่งขัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ