สคร.ยกร่างกฎหมาย PPP แทน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ คาดเสนอรมว.คลังใน 1 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 18, 2010 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)กล่าวว่า สคร.อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายเพื่อรองรับการร่วมทุนของภาครัฐและเอกชน(PPP) ซึ่งจะนำมาใช้แทน พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐและเอกชน พ.ศ.2535 เพื่อให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจมีขั้นตอนการอนุมัติที่รวดเร็วขึ้น มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่มีความรัดกุมและมีคณะกรรมการมาดูแลเฉพาะเพื่อคัดกรองโครงการและตรวจสอบ

ทั้งนี้ คาดว่าจะยกร่างแล้วเสร็จภายใน 1 เดือนก่อนเสนอให้รมว.คลังพิจารณาและทำประชาพิจารณ์ โดยโครงการลงทุนตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะต้องมีมูลค่าโครงการสูงกว่า 1 พันล้านบาท

นอกจากนี้ จะมีการเสนอการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนารัฐวิสาหกิจ อย่างเช่นขณะนี้มีหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่และเป็นบริษัทที่อยู่นอกตลาด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การบริหารงานของกระทรวงการคลัง ซึ่งเดิมมีระเบียบว่าหากขายหุ้นไปจะต้องซื้อหุ้นบริษัทใหม่มาทดแทน ซึ่งจะมีการหารือในระดับนโยบายเพื่อแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อให้มีการขายหุ้นออกไปได้

นายสมชัย ยังเปิดเผยว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้เตรียมหารือผู้บริหาร บมจ.ปตท.(PTT) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และบมจ.การบินไทย(THAI) เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 53 วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้มีการทำหนังสือถึงรัฐวิสหากิจที่ต้องมีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อขอให้แจ้งปัญหาและอุปสรรค รวมถึงสอบถามการปรับปรุงงบลงทุน นอกจากนั้นอาจมีการหารือเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

สำหรับการทำงานของสคร.นั้น นายสมชัย กล่าวว่า จะเน้นการปฏิรูปโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะต้องมีการแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงาน มีการปรับระบบการทำงาน ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจะต้องมีความเป็นมืออาชีพ มีคณะกรรมการที่เป็นมืออาชีพ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมทางกฎหมาย และแก้ไขอุปสรรคที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจใน 5 ปีข้างหน้า มีการประมาณการงบลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท แยกเป็น 41% เป็นด้านคมนาคม, 33% ด้านพลังงาน, 10% ด้านสื่อสาร, 6% เป็นด้านสาธารณูปการ และ 9% ด้านอื่น ๆ โดยแหล่งเงินทุน 43% มาจากรายได้รัฐวิสาหกิจ, 27% มาจากเงินกู้ในประเทศ, 19% มาจากงบประมาณ ขณะที่ยังมีทางเลือกในการระดมทุนทั้งการขายหุ้น IPO, การร่วมทุนเอกชนแบบ PPP, การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ และ การจัดตั้งกองทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน

ส่วนรัฐวิสาหกิจที่จะนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น นายสมชัย กล่าวว่า ที่ทำได้มีแน่ ๆ แล้ว คือ โรงกลั่นสตาร์ฯ ส่วนอีก 2 บริษัท คือ กรุงไทยแอกซ่า และ บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)คงไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันภายในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ