กรุงเทพโพลล์เผยนักเศรษฐศาสตร์เสนอกนง.คงดอกเบี้ยชะลอการแข็งค่าเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 19, 2010 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กรุงเทพโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง "ดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ต.ค.53" พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 54.1% เห็นว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 20 ต.ค.นี้ กนง.ควรจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับปัจจุบัน เนื่องจากจะช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ อันจะช่วยให้เงินบาทไม่แข็งค่ามากเกินไป รวมถึงให้เวลาภาคเอกชนได้ปรับตัว โดยเฉพาะ SME พร้อมกันนี้ยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ และการแข็งค่าของเงินบาทยังสามารถช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้อีกทาง

ส่วนนักเศรษฐศาสตร์อีก 17.6% มองว่า กนง.ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศซึ่งช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทลงได้ และเห็นว่าเป็นมาตรการเดียวที่ กนง.มีเหลืออยู่เพื่อรั้งค่าเงินบาท ในขณะที่ 16.2% มองว่า กนง.ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะแนวโน้มเงินเฟ้อในปีหน้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมองว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นจึงควรปรับขึ้นเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์ยังเชื่อว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า สภาวะแวดล้อมใน 4 ส่วนนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในด้านลบ อันดับแรก อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท อันดับ 2 เศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม อันดับ 3 ปัจจัยด้านการเมือง ซึ่งเท่ากับอันดับ 4 ในเรื่องวิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป

ขณะที่ปัจจัยที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนั้น มองว่าภาคการส่งออกจะเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างแข็งแกร่งที่สุด ส่วนอีก 4 ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้นั้น ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน, การลงทุนภาคเอกชน, การใช้จ่าย-การลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

ส่วนดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า(ม.ค.54) อยู่ที่ 56.64 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ครั้งที่ผ่านมา พบว่าดัชนีปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก และเป็นการปรับตัวลดลงในทุกปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้นไม่เหมือนกับในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะด้านการส่งออกสินค้า

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ใน 25 สถาบันชั้นนำของประเทศ ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 11-15 ต.ค.53


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ