นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์กลางการจัดหาสินค้าเพื่อการผลิตระหว่างประเทศ (International Procurement Center : IPC)
โดยปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือ 15% สำหรับกำไรสุทธิให้แก่ศูนย์กลางการจัดหาสินค้าฯ เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้
- รายได้จากการซื้อและขายสินค้านอกประเทศไทยให้แก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งในต่างประเทศ โดยสินค้าดังกล่าวมิได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย (Out-Out Transaction)
- รายได้จากการขายวัตถุดิบและชิ้นส่วนให้แก่วิสาหกิจในเครือ ประเภทโรงงานผลิตที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทย (In-Out Transaction)
และการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับคนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญระดับสูงเหลือ 15% เป็นจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่องกัน สำหรับเงินได้จากการจ้างแรงงานที่คนต่างด้าวได้รับจากการทำงานในศูนย์กลางการจัดหาสินค้าฯ รวมทั้งให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้จากการจ้างแรงงานที่คนต่างด้าวนั้นถูกส่งไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีของคนต่างด้าวนี้ ศูนย์กลางการจัดหาสินค้าฯ จะต้องมีรายได้จากธุรกรรมที่ได้สิทธิประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ที่ได้สิทธิประโยชน์รวมกับรายได้จากการขายวัตถุดิบและชิ้นส่วนให้แก่วิสาหกิจในเครือเพื่อการผลิตในประเทศ
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการจัดตั้ง และการได้รับสิทธิประโยชน์จะเป็นไปตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
“มาตรการภาษีนี้ จะช่วยสนับสนุนการประกอบธุรกรรมจัดซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพื่อใช้ประกอบการผลิตสินค้าในกลุ่มบริษัท และส่งเสริมการลงทุนด้านการผลิตซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นการต่อยอดมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH) ซึ่งมุ่งทางด้านการบริการ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการผลิตและการให้บริการของภูมิภาคอย่างครบวงจร" นายประดิษฐ์ กล่าว
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การให้สิทธิประโยชน์แบบ out-out จะไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นนอกประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีส่วนน้อยที่บันทึกบัญชีในประเทศไทย การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในครั้งนี้จะส่งเสริมให้มีการนำรายได้ในส่วนนี้มาบันทึกบัญชีในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
ส่วนการให้สิทธิประโยชน์แบบ in-out จะเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มบริษัทในเครือในต่างประเทศใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการส่งออกของประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอย่างยั่งยืน และรัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ เพิ่มขึ้นในระยะยาว