นิด้าแนะธปท.อาศัยช่วงเปลี่ยนผู้ว่าใหม่ ตรึง-ลดดอกเบี้ยบรรเทาผลกระทบบาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 19, 2010 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการ MPA Executive Program Bangkok สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 20 ตุลาคมนี้ ธปท.จะคงดอกเบี้ยหรืออาจจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงก็ได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะหากเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยน หลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

แม้ว่าก่อนหน้านี้แบงก์ชาติจะเพิ่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้ง และอาจจะเห็นว่ายังไม่ควรเปลี่ยนทิศทางของนโยบายการเงินอย่างรวดเร็ว แต่ต้องไม่ลืมว่าการตัดสินใจครั้งนี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดี หากจะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงินในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ตลาดเข้าใจได้

ทั้งนี้ หน้าที่หลักของ ธปท. คือ การดูแลเสถียรภาพของระดับราคาในประเทศหรือระดับอัตราเงินเฟ้อ และรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน ซึ่งเมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศถือว่าเหมาะสมแล้ว โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 1.2% เป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ถือเป็นการตอบรับกับความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่เร็วเกิดขึ้น จนส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลเงินในประเทศเป็นอย่างมาก เพราะนักลงทุนสามารถเข้ามาเก็งกำไรจากส่วนต่างที่เกิดขึ้นได้ ขณะที่ในเดือนหน้าสหรัฐฯจะดำเนินมาตรการ QE2 ซ้ำเข้ามาอีก ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะไทยย่อมได้รับผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินอีกระลอก

"สถานการณ์ในปัจจุบัน ธปท. ควรจะชั่งน้ำหนักการทำหน้าที่ให้ดีและเหมาะสมว่า ควรจะให้น้ำหนักในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาในประเทศ ซึ่งก็คือ ระดับอัตราเงินเฟ้อหรือรักษาเสถียรภาพของค่าเงินมากกว่ากัน" นายมนตรี กล่าว

นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้ กนง.ควรจัดประชุมนอกรอบให้มากขึ้น จากปกติที่จะมีการประชุมทุก 6 สัปดาห์ เนื่องจากมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เป็นเรื่องที่ต้องมีการหารือเพื่อกำหนดทิศทางให้รวดเร็วขึ้น เพราะบางครั้งหากรอการประชุมตามวาระ ก็อาจจะทำให้นโยบายการเงินของไทยไม่สามารถสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกได้ทันท่วงที

ธปท.ควรใช้หลักความยืดหยุ่นในการตัดสินใจมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพิจารณาโดยยึดกรอบปฏิบัติที่เคร่งครัด อาจทำให้การปรับตัวไม่เป็นไปอย่างทันท่วงที ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ