นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยอนุมัติในหลักการแนวทางการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย เพื่อขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของการเร่งรัดคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ดำเนินการในเรื่องการใช้พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ถาวรตามมติ ครม.นั้น ให้กระทรวงพาณิชย์รับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางการใช้พื้นที่ รวมทั้งจำนวนพื้นที่ที่จำเป็น ชัดเจน และเหมาะสม
ทั้งนี้ ให้รับความเห็นขอกระทรวงทรัพยากรฯไปประกอบการพิจารณาด้วยและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และให้การนิคมอุตสาหกรรมหารือในรายละเอียดในเรื่องนี้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯคู่ขนานกันไปด้วย เพื่อเสนอประกอบการพิจารณาของครม.ในคราวเดียวกันต่อไป
สำหรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เห็นควรตั้งอยู่ระหว่างตำบลแม่ปะ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พื้นที่จำนวน 5,603 ไร่ 56 งาน ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเมย โดยต้องมีการเสนอขอยกเลิกป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี และมีรูปแบบการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนผสมกับนิคมอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) จังหวัดตาก และหอการค้าจังหวัดตาก ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด
ทางจังหวัดตากเห็นควรให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน และรัฐบาลให้การสนับสนุนด้านการส่งเสริมการลงทุน โดยให้สิทธิและประโยชน์ด้านต่าง ๆ เช่น ภาษีอากร เงินลงทุนกับธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ การปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
สศช. เห็นว่า ภาครัฐควรสนับสนุนค่าพัฒนาระบบสาธารณูปโภคบางส่วน ซึ่งอาจดำเนินงานภายใต้หลักการจัดสรรงบประมาณสมทบ ตามมติครม.เมื่อวันที่ 15 ต.ค.39 เรื่อง โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในภูมิภาคภายใต้แผนงานการกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากส่วนกลางออกสู่ภูมิภาค (โครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดย่อมจังหวัดขอนแก่น และโครงการนิคมอ ตสาหกรรมสุราษฎร์ธานี ระยะที่ 1) โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากครม. นอกจากนี้ควรจัดสรรเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับการลงทุน
สำหรับรูปแบบการบริหารจัดการ สศช. สำนักงาน ก.พ.ร. และจังหวัดตาก เห็นพ้องกันที่จะให้มีการดำเนินงานเป็นขั้นตอน โดยเริ่มจากการจัดตั้งเป็นเขตอุตสาหกรรมหรือนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจังหวัดร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมศุลกากรสามารถดำเนินการจัดทำโครงการในเบื้องต้น ควบคู่กับการดำเนินการเตรียมการจัดตั้งองค์การมหาชน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน
หอการค้าจังหวัดตากเห็นควรจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 เพราะจะมีความคล่องตัวและเป็นอิสระในการบริหารจัดการ นอกจากนั้น ยังสามารถลงทุนหรือดำเนินกิจการที่แสวงหากำไรได้ ในขณะที่รูปแบบองค์การมหาชนค่อนข้างจะมีข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ. 2542 เนื่องจากต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรเป็นหลัก