นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปี 2554 จำนวน 76,202 ล้านบาท นั้น สศก.ได้สรุปการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวโดยแยกเป็น ค่าใช้จ่ายประจำขั้นต่ำ 19,482.84 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการ 56,719.58 ล้านบาท
สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการ จะดำเนินงานตามนโยบายการพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีกรอบการดำเนินการ 2 นโยบายหลัก คือ นโยบายเร่งด่วน และนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร ซึ่งแบ่งการดำเนินงานดังนี้
นโยบายเร่งด่วน มีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ 1) พัฒนาการเกษตรและส่งเสริมอาชีพเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ ส่งเสริมอาชีพด้านประมง ปศุสัตว์ ปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่นา ร้าง ก่อสร้างปรับปรุงโครงการและระบบชลประทาน ยกระดับมาตรฐานการครองชีพของเกษตรกร พัฒนาศูนย์ ข้าวชุมชน สร้างเครือข่ายเกษตรและสหกรณ์จังหวัด กลุ่มอาสาสมัครฯ ระดับตำบล
2) ส่งเสริมให้มีระบบประกัน ความเสี่ยงให้เกษตรกร เพื่อลดความเสี่ยงและเป็นการสร้างเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกร โดย ผ่านกลไกคณะกรรมการต่างๆ อาทิคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ และขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายใต้ โครงการประกันรายได้เกษตรกร
และ 3) สนับสนุนให้มีสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นภารกิจที่สำคัญตามนโยบายของ รัฐบาล เพื่อให้เกิดผลตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่จะส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อวางแผน การเกษตรและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรร่วมกัน
นโยบายปรับโครงสร้างภาคเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคเกษตร โดยเน้นการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร การพัฒนาการผลิต การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานและภารกิจสนับสนุน ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ โครงการส่งเสริมการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริ โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและเกษตรกร เช่น ส่งเสริมและพัฒนาสถาบันการเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร และเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร
2) ด้านการพัฒนาการผลิต ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความมั่นคงด้านอาหาร ส่งเสริมการทำการประมงนอกน่านน้ำ และจัดทำโครงการรองรับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ภาคเกษตร และเขตการค้าเสรีอื่นๆ
3) ด้านการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานและภารกิจสนับสนุน ได้แก่ การจัดการทรัพยากรน้ำ โดยพัฒนาปรับปรุงและขยายระบบชลประทาน จัดการน้ำ ชลประทาน จัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่ การจัดการ ทรัพยากรดิน โดยปรับปรุงคุณภาพดิน และฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การจัดที่ดิน โดยจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร และจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การดำเนินงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยบูรณาการโครงการรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตรด้านประมงและปศุสัตว์ ศึกษาวิจัยผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรในเชิงเศรษฐกิจ