ประเด็นความขัดแย้งค่าเงินส่อเค้าเข้มข้นในเวทีประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่ม จี-20

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 20, 2010 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ความขัดแย้งเรื่องนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีท่าทีว่าจะร้อนแรงมากยิ่งขึ้นในการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ จี-20 ที่จะจัดขึ้นในกรุงโซล เกาหลีใต้วันที่ 22-23 ต.ค.นี้

โดยสหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้เรียกร้องให้ตลาดเกิดใหม่ที่ขยายตัวรวดเร็ว เช่น จีน บราซิล และเกาหลีใต้ หยุดใช้มาตรการที่ทำให้ค่าเงินของประเทศอ่อนตัวลงเพื่อกระตุ้นการส่งออกและสร้างงาน

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามองว่า นโยบายทางการเงินที่หย่อนยานของประเทศพัฒนาแล้วได้ก่อให้เกิดภาวะไร้สมดุลของการไหลบ่าของเงินทุน ทำให้ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องรักษาค่าเงินให้อ่อนค่าลง เพื่อป้องกันภาวะฟองสบู่เศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ความขัดแย้งดังกล่าวยังทำให้รัฐมนตรีคลังและเจ้าหน้าที่หลายคนออกมาแสดงความวิตกกังวลว่า "สงครามค่าเงิน" อาจทำให้การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และหากการประชุมในวันเสาร์นี้ ไม่สามารถที่จะคลี่คลายความตึงเครียดลงได้ ก็อาจก่อให้เกิดภาวะชะงักงันในการประชุมสุดยอด จี-20 ที่กรุงโซลในเดือนหน้า

ทั้งนี้ คาดว่า จีนจะตกเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งดังกล่าว ในขณะที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐ ได้กดดันให้รัฐบาลจีนผ่อนปรนการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนและปล่อยให้ค่าเงินแข็งค่าในจังหวะที่เร็วขึ้น โดยเชื่อว่าการที่จีนปล่อยให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นจะเป็นการรักษาดุลการค้าของโลก เนื่องจากจีนถูกมองว่า ดูแลค่าเงินหยวนให้อยู่ที่ระดับต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อกระตุ้นการส่งออกของประเทศ

นอกจากนี้ การเข้าแทรกแทรงตลาดปริวรรตเงินตราของเกาหลีใต้ เพื่อลดค่าเงินวอน รวมทั้งการควบคุมเม็ดเงินลงทุนของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วยการขึ้นภาษีการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของชาวต่างชาติ กำลังเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองจากทั่วโลก

โดยประเทศเหล่านั้นอ้างว่า มาตรการดังกล่าวมีความจำเป็น เนื่องจากช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงิน เนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนเพราะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาๆ รวมทั้งการมาตรการการผ่อนปรนทางการเงินในสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่กำลังตกที่นั่งลำบาก ในการสร้างความเข้าใจต่อสมาชิกกลุ่มประเทศ จี-20 เรื่องการแทรกแทรงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อให้เงินเยนอ่อนค่าลงในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแทรกแซงเป็นครั้งแรกของรัฐบาลญี่ปุ่นในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนและประเทศอื่นๆถูกดดันให้ดูแลค่าเงินของประเทศไม่ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าความเป็นจริง

โยชิฮิโกะ โนดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น กล่าวเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมาว่า การแทรกแทรงตลาดเงินมีจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลายความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยน มากกว่าการผลักดันค่าเงินให้เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ เงินเยนแข็งค่าสูงสุดในรอบ 15 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกของประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว

การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศ จี-20 มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างรวดกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ ถึงแม้จังหวะการฟื้นตัวของแต่ละประเทศและภูมิภาคนั้นจะแตกต่างกันไป

ส่วนการประชุมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐมนตรีคลังอาจต้องให้ความสนใจกับความเสี่ยงในด้านลบที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และที่ประชุม จี-20 อาจจะปรับลดการประเมินเศรษฐกิจลงด้วยเช่นกัน สำนักข่าวเกียวโดรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ