นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในวันนี้คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี เพื่อรอประเมินสถานการณ์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้มีความชัดเจนขึ้น ภายใต้วัฎจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น สภาะแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว และความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ กนง.ไม่ได้พิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลค่าเงินบาท
กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะชะลอลงบ้างในช่วงต่อไป โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมีความเปราะบางจากการบริโภคที่ยังฟื้นตัวช้าและปัญหาการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปยังคงมีความเสี่ยงจากการต้องปรับลดการขาดดุลการคลังในปีหน้า ส่วนเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวดี การบริโภคและการลงทุนมีมาก
เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้จากแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ อุปสงค์ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกอาจมีผลต่อแนวโน้มการส่งออกของไทย ขณะที่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อในปัจจุบันทรงตัว
นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง.ไม่ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เพราะเหตุผลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก แต่เป็นการพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน โดยเฉพาะเศรษฐกิจนอกประเทศ เศรษฐกิจโลก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว การนำเข้าส่งออกของไทย ซึ่งทีประชุมได้นำปัจจัยหล่านี้มาพิจารณาโดยละเอียด
"การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไมได้มีผลต่อเป้าหมายนโยบายการเงิน เนื่องจากยังยึดกรอบเดิมที่จะดูแลเสถียรภาพการเงิน แต่จากความไม่แน่นอนของเศรษกิจโลกในขณะนี้ และนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว เราคิดว่าเป็นการรอบคอบที่จะรอประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศจีนในวันนี้ด้วย"นายไพบูลย์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มระยะต่อไป จากการประเมินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ที่จะประกาศภายในเดือนนี้ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน และการไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ไม่ได้กระทบกับตวามสามารถในการดำเนินนโยบายตามกรอบเงินเฟ้อ และขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยยังเป็นขาขึ้น
อย่างไรก็ตาม กนง.พิจารณาต้นเหตุของเงินทุนไหลเข้าที่เป็นสาเหตุทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เห็นว่าเป็นปัจจัยภายนอกมากกว่า ผลจากเศรษฐกิจโลกและนโบบายการเงินที่ผ่อนคลายของสหรัฐและญี่ปุ่น ทำให้สภาพคล่องท่วมโลก ดังนั้น สถานการณ์ดังกล่าวยังเป็นปัจจัยที่จะอยู่กับเราต่อไป ไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศจะสูงหรือต่ำ ซึ่งจะต้องติดตามใกล้ชิด
"การไม่ขึ้นดอกเบี้ยเป็นเพราะเงินเฟ้อ ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือเรื่องเงินไหลเข้า อัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่เป้าหมายของนโยบายการเงินหลักของแบงก์ชาติ เพียงแต่ดูผลทางอ้อมที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อหรือไม่ การปรับดอกเบี้ยในภาวะที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ต้องมีความระมัดระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย ไม่ใช่ว่าเราวางเข็มไว้แล้วก็ต้องวิ่งตามนี้"
"ดอกเบี้ยไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการทุกโจทย์ แต่เป็นการป้องกันเสถียรภาพในระบบการเงิน ซึ่ง กนง.ยึดหลักนี้มาโดยตลอด ถ้าเราเห็นภาพรวมเศรษฐกิจไปได้ก็ต้องดำเนินนโยบายการเงินไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เสถียรภาพการเงินจำเป็นต้องมี เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบยั่งยืน"นายไพบูลย์ กล่าว
ส่วนการจะแก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาบาทแข็งค่านั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องหามาตรการมาแก้ไขปัญหา แต่หน้าที่ ธปท.คือการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้ง่ายและสะดวกขึ้น ส่วนการปรับตัวภาคธุรกิจต้องพยายามทำเอง
"นโยบายการเงินไม่สามารถทำให้ทุกคนมีความสุขได้ ไม่อยากให้มีหลายเป้าหมาย ถ้าเราสนองตอบความต้องการต่าง ๆ ตามตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไปเราก็ไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินที่บรรลุเป้าหมายได้"นายไพบูลย์ กล่าว