นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือน ก.ย.53 การส่งออกมีมูลค่า 18,062 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 21.2% และการนำเข้ามีมูลค่า 14,997 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 16.0% ส่งผลให้เกินดุลการค้าประมาณ 3,065 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ส่งผลให้ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ย.53) การส่งออกมีมูลค่ารวม 143,145 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามูลค่า 133,999 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 43.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เกินดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 9,146 ล้านดอลลาร์
"การส่งออกที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อตกลง FTA และ AFTA รวมถึงยุทธศาสตร์การค้าชายแดนที่ประสบความสำเร็จ"นางพรทิวา กล่าว
นางพรทิวา กล่าวว่า การส่งออกในเดือน ก.ย.แม้จะได้รับผลกระทบเรื่องเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว แต่พบว่าการส่งออกในเดือนนี้ยังถือว่าทำลายสถิติหรือทำนิวไฮอีกครั้งที่ประเมิน 18,000 ล้านดอลลาร์
สำหรับการส่งออกในเดือนก.ย.ถือว่ายังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ทำรายได้หลัก เช่น ยางพารา ขยายตัว 92% ยานยนต์และส่วนประกอบ 46.2% เครื่องใช้ไฟฟ้า 20.6% กลุ่มอาหาร 15.6% และกลุ่มสินค้าอื่น 41.7%
ในขณะที่ มีสินค้าเพียงบางรายการที่การส่งออกลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ลดลง 33.2% เนื่องจากผลผลิตลดลงและมีความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้น น้ำตาลลดลง 51.9% สาเหตุคือผลผลิตในปผระเทศลดลงขณะที่ความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 3 ไตรมาส มีเพียงสินค้าข้าวที่ส่งออกลดลงเพียง 4.5% สาเหตุมาจากราคาข้าวของไทยสูงกว่าคู่แข่งประกอบกับยังมีปัญหาการระบายสต็อกของรัฐบาล แต่ทั้งปียังเชื่อว่าจะส่งออกได้
ส่วนตลาดส่งออกสำคัญในเดือนก.ย.ถือว่าทุกตลาดขยายตัวทั้งหมด โดยตลาดหลัก ขยายตัว 22.9% ตลาดที่มีศักยภาพสูงขยายตัว 29.5% ขณะที่ตลาดศักยภาพรอง ขยายตัว 5.5% ส่วนการนำเข้าในเดือน ก.ย.ยังถือว่าขยายตัวในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ยกเว้น สินค้ากลุ่มเชื้อเพลิงที่ลดลง 19.9% โดยการนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัว 28.2% นำเข้าวัตถุดิบขยายตัว 23.5% นำเข้าสินค้าอุปโคบริโภค ขยายตัว 18.1% และการนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งขยายตัว 56.8%
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกในเดือนกันยายนเติบโตได้สูงเป็นประวัติการณ์มาจาก 1.ขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงของผู้ประกอบการไทย 2.เศรษฐกิจตลาดโลกฟื้นตัว 3.สต็อกของผู้นำเข้าลดลงทำให้มีการสั่งออเดอร์มากขึ้น 4.ความสำเร็จจากการใช้ประโยชน์ข้อตกลงการเปิดเขตการเสรีค้าต่างๆ โดยเฉพาะการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) รวมทั้งการค้าชายแดนที่มีการขยายตัวได้ดี 5.การใช้ยุทธศาสตร์ดูแลเป็นรายสินค้า ร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ภายใต้นโยบาย Chief of Product 6.การดำเนินมาตราการเชิงรุกต่างๆของกระทรวงพาณิชย์
รมว.พาณิชย์ ยังมั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 20% โดยมียอดการส่งออกประมาณ 183,000 ล้านดอลลาร์ และมีโอกาสที่การส่งออกในปีนี้อาจจะขยายตัวได้ถึงระดับ 21-22%
"ขณะนี้เหลืออีก 3 เดือนยังขาดอยู่อีก 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ก็จะได้ตามเป้าหมายที่ 20% ซึ่งดูจากสถานการณ์แล้วน่าจะเกินแน่ 21-22% ยังพอไหว"
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างชัดเจน ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เพราะจากปัจจุบันจะเห็นได้แล้วว่า อัตราแลกเปลี่ยบนเงินบาทในเดือน ก.ย.ซึ่งอยู่ที่ระดับ 29 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าแข็งค่าขึ้น 12% เมื่อเทียบกับต้นปี ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ย.หายไปประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
อนึ่ง ส่งออกในเดือนก.ย.อยู่ที่ประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการส่งออกในรูปเงินบาท ประมาณ 565,800 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มการส่งออกปี 54 จนถึงขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคาดว่าจะทำได้อย่างต่ำ 10% หากไม่มีปัจจัยลบมากระทบมากกว่าปัจจัยบวก