กษ.ร่วมป้องกันศัตรูพืชแพร่ระบาดข้ามพรหมแดน-เร่งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการเกษตรอาเซียน หรือ AMAF ซึ่งจะมีขึ้นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 22-27 ตุลาคม 2553 ณ ประเทศกัมพูชา ได้กำหนดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการการควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคสัตว์และพืช ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมศักยภาพในความร่วมมือทางด้านการตรวจและการกักกันสัตว์และพืช และการป้องกันการแพร่ระบาดข้ามพรหมแดนของศัตรูพืช" ซึ่งมีสาระสำคัญอันจะนำไปสู่การประกาศแถลงการณ์ร่วมพนมเปญ (Phnom Penh Joint Declaration) ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในความร่วมมือป้องกันการแพร่กระจายข้ามพรมแดนของศัตรูพืชและสัตว์ไปยังประเทศภาคี เพื่อเป็นการคุ้มครองการเกษตร ป่าไม้ และประมง รวมทั้งปกป้องสิ่งแวดล้อมทางนิเวศน์ รวมทั้งสุขภาพมนุษย์ ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการค้า

สำหรับสาระสำคัญของร่างแถลงการณ์พนมเปญ จะมีประเด็นการดำเนินการร่วมกันของอาเซียนและจีน ดังนี้ จะร่วมกันรับผิดชอบในการต่อต้านการแพร่กระจายข้ามแดนของศัตรูพืชและสัตว์, ตระหนักถึงความสำคัญของกฎระเบียบด้านมาตรฐานด้านการกักกันและตรวจสอบ ในการป้องกันการแพร่กระจายของศัตรูพืชและสัตว์, เสริมสร้างความเข้มแข็งของการแลกเปลี่ยนแนวทางการกักกันและตรวจสอบ รวมทั้งบุคลากร รวมทั้งความร่วมมือด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยง การเฝ้าระวังโรค การจัดการความเสี่ยงร่วมกัน, ตระหนักว่าการสื่อสารความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องศัตรูพืชและสัตว์ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศภาคี จึงควรแจ้งให้ภาคีอื่นรู้โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ หากพบศัตรูพืชและสัตว์ในสินค้าเกษตรของประเทศภาคีแล้วจะดำเนินการแจ้งให้ทราบโดยเร็วที่สุดเพื่อหาสาเหตุและมาตรการป้องกันที่เหมาะสม

นอกจากนี้ จะร่วมมือในองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การโรคระบาดสัตว์ อนุสัญญาอารักขาพืช องค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ เป็นต้น, มอบหมายให้ที่ประชุมผู้ประสานงานรายงานความก้าวหน้าเรื่องนี้ให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งหากประเทศไทยและประเทศสมาชิกอื่น ร่วมในการประกาศแถลงการณ์ร่วมพนมเปญ ย่อมทำให้การดำเนินการความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช รวมถึงการขยายความร่วมมือเกี่ยวกับงานด้านความร่วมมือด้าน การตรวจสอบและกักกัน ระหว่างอาเซียนกับจีน เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่การอำนวยความสะดวกในการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายต่อไป

สำหรับเรื่องการจัดตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน (APTERR) ภายในปี 2553 วิธีการสำรองข้าว APTERR มี 2 ประเภท คือ 1) ข้าวสำรองในรูปสัญญา (Earmarked Reserve) อาเซียนมีทั้งสิ้น 787,000 ตัน โดยประเทศไทยได้สำรองไว้ 15,000 ตัน ซึ่งแนวทางดำเนินงานจะให้ประเทศสมาชิกจับคู่สัญญาซื้อขายในราคาที่เหมาะสม รวดเร็ว ทันต่อการช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ขึ้นกับข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา

2) ข้าวสำรองจริง (Stockpiled Reserve) จะเป็นข้าวหรือเงินสดที่องค์กรจะได้รับแบบให้เปล่าจากประเทศสมาชิก เพื่อนำไปช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบภัย ซึ่งความร่วมมือทั้งสองส่วนประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งในด้านการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนและในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งในภาคการเกษตรให้กับภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ