ศูนย์วิจัยกสิกร มองธปท.จำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมรับมือทุนไหลเข้าแม้ตรึงอาร์/พี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 20, 2010 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ 1.75% ตามคาด แต่ประเมินว่าหากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE)ของสหรัฐทำให้การไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ธนาคารกลางเอเชียและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จำต้องพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับการไหลเข้าของเงินทุน ทั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารกลางสามารถดำเนินนโยบายดอกเบี้ยได้อย่างมีประสิทธิผลในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

การคาดการณ์เกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสองของสหรัฐกลายเป็นตัวการสำคัญที่สร้างความปั่นป่วนให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียและตลาดเกิดใหม่ต่างต้องแบกรับภาระการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพของสหรัฐฯ ที่ถูกถ่วงลงด้วยความเปราะบางในการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและตลาดที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะทำให้การส่งสัญญาณเกี่ยวกับจังหวะการคุมเข้ม และ/หรือวัฎจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ก่อนช่วงครึ่งหลังของปี 54

นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางจีนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี ก็นับเป็นย่างก้าวสำคัญที่มีความน่าสนใจ และอาจเป็นตัวอย่างของการวางแนวทางเชิงนโยบายการเงินเพื่อช่วยดูแลเสถียรภาพภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศสำหรับธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่จำต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทายจากมาตรการทางการเงินเชิงผ่อนคลายของเฟดในระยะข้างหน้า

ธนาคารกลางจีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชีย ร่วมกับธนาคารกลางไต้หวันและธนาคารสิงคโปร์ที่ส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินท่ามกลางกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับ QE รอบใหม่ของเฟด โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนถูกปรับเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศซึ่งกำลังเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อและความกังวลต่อภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

ขณะเดียวกัน ทางการจีนก็ใช้วิธีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงประจำวันของเงินหยวนเป็นเครื่อมือในการส่งสัญญาณกับตลาดการเงินว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินหยวน และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศยังคงถูกดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ แม้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการของประเทศอื่นๆ ในเอเชีย จะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนของจีน แต่แผนการรองรับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่เหมาะสม ก็อาจทำให้ธนาคารกลางเอเชียอื่นๆ สามารถกลับมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในการสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทของไทยก็เป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ต้องร่วมแบกรับภาระการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ภายใต้กระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับมาตรการ QE และความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงหลายเดือนข้างหน้าด้วยเช่นกัน โดยเงินบาทเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมาของปี 53 พบว่าเงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าอย่างโดดเด่น แม้จะเผชิญแรงกดดันช่วงสั้นๆ จากปัญหาความรุนแรงทางการเมืองในประเทศในช่วงต้นไตรมาส 2/53 ก็ตาม

ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าว ร่วมกับมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ การตรึงราคาก๊าซ NGV/LPG ของรัฐบาล และการขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า เป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อภายในประเทศลงอย่างน้อยก็ในระยะสั้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เอื้อให้กนง.สามารถพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ไว้ตามเดิม เพื่อรอประเมินความเสี่ยงจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ดี จากประมาณการอัตราเงินเฟ้อของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนว่า แรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะการทยอยปรับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงรออยู่ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า อาจทำให้ ธปท.มีความจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในด้านการดูแลเสถียรภาพทางด้านราคาอันเป็นภารกิจหลักของธปท. ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทที่อาจต้องแบกรับภาระการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟดทำให้การไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็อาจสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางเอเชียและธปท.จำต้องพิจารณาใช้มาตรการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อช่วยดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน และเพื่อให้ธนาคารกลางเหล่านี้สามารถดำเนินนโยบายดอกเบี้ยได้อย่างมีประสิทธิผลในการดูแลความเสี่ยงเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ