นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายที่จะผลักดันการส่งออกของไทยในปี 54 ให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% โดยจะมีการทำงานในเชิงบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ได้มอบนโยบายให้แก่ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในต่างประเทศและในส่วนภูมิภาคให้ความสำคัญกับมาตรการทั้ง 8 ด้าน ดังนี้ คือ 1.การขยายฐานเพิ่มจำนวนผู้ส่งออก โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) ที่มีศักยภาพให้มีบทบาทในการผลักดันการส่งออกของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.ให้ความสำคัญกับตลาดอาเซียน จีน และอินเดีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ควรนำผู้ส่งออกไปเปิดตลาดสินค้าที่เหมาะสมกับผู้บริโภคในตลาดนั้นๆ มากขึ้น ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในรูปแบบต่างๆ
3.ใช้ช่องทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออก เช่น E-Market Place 4.ปรับรูปแบบกิจกรรมผลักดันการส่งออกให้มี impact มากขึ้น โดยเน้นการจัดงานให้ใหญ่ขึ้นและเน้นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทย 5.ปรับปรุงระบบข้อมูลให้มีเชิงลึกและหาง่าย เพื่อความสะดวกในการใช้ข้อมูลของผู้ประกอบการ
6.ให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อนด้วยการส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสังคม 7.ประสานงานกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ในการแก้ปัญหาการส่งออกตลอดจนผลักดันการส่งออกตามยุทธศาสตร์ ตามนโยบายหัวหน้ากลุ่มสินค้า(Chief of Product) อย่างต่อเนื่อง และ 8.จัดคณะผู้แทนการค้า SMEs ไปขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
รมว.พาณิชย์ ได้มอบนโยบายแก่ทูตพาณิชย์ให้ทำงานทั้งเชิงรับและเชิงรุก เพราะสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งการที่จะทำให้การส่งออกของไทยสามารถแข่งขันอยู่ได้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นนี้ นอกจากภาคเอกชนจะต้องปรับตัวแล้ว ภาครัฐเองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน เพื่อช่วยทำให้ภาคการส่งออกเป็นเสาหลักช่วยนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการเชิงรุก ประกอบด้วย 1.ให้ทูตพาณิชย์หาข้อมูลเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินที่เป็นทั้งแง่ของโอกาสและอุปสรรค เพื่อแจ้งให้ภาคเอกชนได้รับทราบสถานการณ์และใช้ประโยชน์ในการเพิ่มการส่งออกจากประเทศที่ไทยได้เปรียบในเรื่องค่าเงิน
2.ให้ทูตพาณิชย์เน้นตลาดใหม่ของแต่ละสินค้า โดยดูว่าในแต่ละสินค้าส่งออกไปประเทศใดบ้าง 10 อันดับแรก และให้เน้นประเทศที่ส่งออกได้อันดับ 6-10 เป็นตลาดใหม่ที่ยังมีโอกาสต้องหาทางเพิ่มยอดส่งออกให้ได้อย่างน้อย 15% ในปี 54 และ 3.ให้ทูตพาณิชย์สนับสนุนเอกชนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเพิ่มการส่งออกในตลาดใหม่ เช่น การแนะนำให้พบกับผู้ประกอบการของแต่ละประเทศ หรือการจัดกิจกรรมเผยแพร่สินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ส่วนมาตรการเชิงรับ ประกอบด้วย 1.ให้ดูแลตลาดเก่าที่แต่ละสินค้าส่งออกได้อันดับ 1-5 เพราะสินค้าเหล่านี้มียอดการส่งออกที่ดี และมักจะถูกกีดกัน หรือมีการสร้างกฎระเบียบใหม่เพื่อทำให้สินค้าจากไทยส่งออกไปยากขึ้น ซึ่งทูตพาณิชย์จะต้องแจ้งเตือนผู้ส่งออกอยู่ตลอดเวลา
2.เมื่อผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจนถูกกักกันสินค้า ทูตพาณิชย์จะต้องช่วยประสานงานทั้งกับหน่วยราชการและภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาหให้แก่ผู้ส่งออกได้โดยเร็ว โดยต้องตรวจสอบข้อมูลสินค้าไทยที่ตกค้างตามประเทศต่างๆ และรายงานสรุปผลทุกเดือนเพื่อหาทางแก้ไข
3.หากยอดส่งออกสินค้าไทยลดลงในประเทศใด ให้ทูตพาณิชย์ประจำประเทศนั้นรีบหาข้อมูลผลกระทบสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งจากคู่แข่ง, ผู้บริโภค หรือความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และรีบแจ้งให้ผู้ประกอบการของไทยทราบเพื่อหาทางแก้ไขให้ยอดส่งออกกลับมาอยู่ในระดับเดิม
"จากนโยบายเชิงรุกและเชิงรับ เชื่อว่าจะเป็นแนวทางให้ทูตพาณิชย์ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ที่ไม่ได้เน้นเฉพาะตลาด และสินค้าแบบเดิม แต่จะเพิ่มปัจจัยเรื่องการดูแลค่าเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ขอให้ทูตพาณิชย์รับนโยบายไปปฏิบัติ เพื่อทำให้การส่งออกของไทยในปี 54 มีการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10%" รมว.พาณิชย์ กล่าว