(เพิ่มเติม) ผู้ว่าธปท. ยืนยันจะใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นเพื่อดูแลค่าเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 21, 2010 10:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุน และพร้อมที่จะลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในระยะสั้นเพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีการปรับตัว ซึ่งจากนโยบายการเงินของ ธปท. ยังคงให้น้ำหนักโดยที่อัตราดอกเบี้ยยังเป็นอิสระ

ขณะเดียวกันไทยเองยังต้องการสภาพคล่องจากเงินทุนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเข้ามาลงทุนในประเทศ แต่ขณะเดียวกันยังจำเป็นต้องใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น เพียงแต่ต้องมีการบริหารจัดการ เพราะหากใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยึดติดจะทำให้นโยบายการเงินโดยนโนยบายดอกเบี้ยขาดความคล่องตัว

นายประสาร ยอมรับว่า ขณะนี้ ธปท.ได้ศึกษามาตรการไว้เพิ่มเติม เพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนในการวางแผนเพื่อเตรียมการ แต่การจะนำมาใช้ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม และต้องดูผลดีผลเสียจากการที่หลายประเทศได้มีการออกมาตรการมาใช้ด้วย

"มาตรการเพิ่มเติมมีการศึกษา แต่ต้องพิจารณาเงื่อนไข การใช้ต้องดูประสิทธิผล ดูผลข้างเคียง หากนำมาใช้ต้องดูให้รอบด้าน เพราะแต่ละมาตรการที่มีการนำมาใช้ บางครั้งอาจมีผลข้างเคียง ซึ่งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจะมีทั้งผู้ถูกกระทบและผู้ได้ประโยชน์" นายประสาร กล่าว

ส่วนการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากคณะกรรมการมีความเห็นว่าขณะนี้มีความไม่แน่นอนสูง ที่เศรษฐกิจโลก และปัจจัยนอกประเทศ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ส่วนการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายในครั้งหน้า ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปี มีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ คงต้องติดตามภาวะที่เป็นจริงเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีความผันผวนสูง จึงต้องใช้เวลาติดตาม ซึ่ง กนง.มีเวลาอีก 45 วัน

ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของจีน เป็นการดำเนินโยบายดอกเบี้ยอย่างอิสระและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ขณะนี้จีนกำลังมีสัญญาณหลายด้านที่ชี้ว่าจะมีความเสี่ยง ทั้งจากภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินทรัพย์ที่อาจจะเกิดฟองสบู่ ซึ่งมีแรงกดดันมากกว่าไทย ที่ในระยสั้นขณะนี้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อยังมีไม่สูง ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของจีนอาจมีส่วนเกี่ยวกับเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่เนื่องจากจีนมีการใช้มาตรการที่เข้มข้นมากกว่าไทย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อประจำปี 54 ซึ่งจะนำเสนอต่อ รมว.คลัง ในปลายเดือน ต.ค.หรือต้นเดือน ธ.ค. ขณะที่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 53 อยู่ที่ 0.5-3%

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นขณะนี้จะมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากน้อยอย่างไร โดยจะต้องรอการประเมินผลอีกระยะว่าแต่ละ sector ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ขณะที่ผลกระทบของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจ จะต้องพิจารณา 2 ด้าน ทั้งผู้ถูกกระทบ และผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ผู้ส่งออก และผู้นำเข้า ซึ่งต้องมองโดยองค์รวมทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ