นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า มาตรการที่ ธปท.ออกมาในขณะนี้ คงจะส่งผลให้นักลงทุนชะลอดูสถานการณ์ก่อน เนื่องจากมาตรการที่ออกมายังไม่ได้ชี้ชัดว่าจะทำให้เงินบาทหยุดแข็งค่าได้หรือไม่ แต่ยอมรับว่าการที่ ธปท.สามารถตรึงเงินบาทให้ไม่หลุด 29.80 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ขณะเดียวกันเห็นว่ามาตรการที่ ธปท.ออกมายังไม่เพียงพอและการออกมาตรการต่าง ๆ ควรจะเร็วกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาช้าเกินไป
ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางจีนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถือเป็นการส่งสัญญาณให้โลกรับรู้ว่าเศรษฐกิจของจีนจะไม่เกิดปัญหาฟองสบู่ และเศรษฐกิจของเอเซียเติบโตได้อย่างมั่นคงมากขึ้น จะเป็นแรงหนุนให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น
ทั้งนี้ หอการค้าไทย สำรวจพบว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก คือ 32.40 บาท/ดอลลาร์ และเห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมในปี 54 ควรจะอยู่ที่ 31.90 บาท/ดอลลาร์ ระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าที่สุดที่ยอมรับได้ ควรจะต้องไม่ต่ำกว่า 30.40 บาท/ดอลลาร์ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าสุดและยอมรับได้ในปี 54 คือ 29.50 บาท/ดอลลาร์
นอกเหนือจากนี้ การสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า ปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ปรากฎว่า นักธุรกิจเห็นว่าปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนอันดับแรก รองลงมาเป็นเรื่องของราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ในขณะที่เห็นว่าปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อมาคือเรื่องปัญหาน้ำท่วม
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การที่ธนาคารโลกมองว่า จีดีพีไทยปี 54 จะขยายตัวที่ 3.2% ขณะที่มาเลเซียจะขยายตัว 4.8% ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินริงกิตและเงินบาทจะมีการแข็งค่าในระดับที่ใกล้เคียงกันก็จริง แต่เนื่องจากมาเลเซียมีการไปลงทุนในต่างประเทศมาก ทำให้ผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของมาเลเซียดีกว่าของไทย