กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุ การปรับลดตัวเลขขาดดุลการคลัง (fiscal consolidation) ด้วยความระมัดระวังนั้น จำเป็นสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรป เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยังต้องต่อสู้กับผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรง
รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจประจำทวีปยุโรป (REO) ฉบับล่าสุดของไอเอ็มเอฟระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ได้รับปัจจัยหนุนจากการดีดตัวขึ้นของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยอดส่งออกที่แข็งแกร่งในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าทุน อย่างไรก็ตาม อัตราการฟื้นตัวยังคงอ่อนแรงและคาดว่าจะเติบโตต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อเทียบกับในอดีต
ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของยุโรปจะขยายตัวที่ระดับ 2.3% ในปี 2553 และ 2.2% ในปี 2554 หลังจากที่หดตัวลง 4.6% ในปีที่ผ่านมา แต่สำหรับประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.7% ในปีนี้และ 1.6% ในปีหน้า
"แม้ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มมีความแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา แต่อัตราการดีดตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตคาดว่าจะยังอ่อนแรงกว่าการฟื้นตัวครั้งก่อนๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงิน ตลอดจนการปรับดุลบัญชีการคลังของประเทศต่างๆ ในปี 2554" ไอเอ็มเอฟระบุ
"การปรับลดยอดขาดดุลการคลังเป็นที่สิ่งที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องดำเนินนโยบายที่จะทำให้ผลกระทบในแง่ลบต่อเศรษฐกิจและอัตราว่างงานเกิดขึ้นน้อยที่สุด เพราะหากการขยายตัวทางเศรษฐกิจช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ มาตรการด้านการคลังบางอย่างอาจถ่วงเวลาให้การปรับลดยอดขาดดุลการค้าของหลายประเทศล่าช้าออกไปอีก"
การใช้นโยบายการเงินต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการใช้นโยบายที่เป็นปกติและความสำคัญในการบรรเทาความผันผวนในตลาด รวมถึงการสร้างความมั่นใจต่อสภาพคล่องในระบบธนาคาร ขณะเดียวกัน ทางการควรติดตามผลการตรวจสอบสถานะการเงินของธนาคารในยุโรปอย่างต่อเนื่อง เพื่อลบจุดอ่อนในงบดุลบัญชี และให้รักษาขีดความสามารถในการออกเงินกู้
เอเจย์ โชปรา รักษาการผู้อำนวยการแผนกยุโรปของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า "เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงด้านดุลบัญชีภาคธนาคาร ส่วนสถาบันการเงินที่ยังอ่อนแอควรมีการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับโครงสร้างเงินทุน และไม่รีรอที่จะแก้ปัญหาต่างๆ อย่างทันท่วงที" สำนักข่าวซินหัวรายงาน