กสิกรฯคาดบาทแข็งกดมูลค่าส่งออกปี 54 โตไม่ถึง 10% อาจติดลบในรูปเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 22, 2010 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยในระยะต่อจากนี้ไปเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด ภายใต้กระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งจะยังสร้างแรงกดดันต่อทิศทางค่าเงินบาทให้มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 54 จากที่ขณะนี้แข็งค่าขึ้นมาแล้ว 12% นับตั้งแต่สิ้นปี 52

ทั้งนี้ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกของไทยปี 54 ในรูปของเงินดอลลาร์จะมีอัตราการขยายตัวที่ 6-10% ขณะที่แนวโน้มเงินบาทเฉลี่ยครึ่งแรกของปี 54 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น 13-15% ซึ่งทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในรูปของเงินบาทอาจติดลบในช่วงท้ายปี หรือตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 54 ขณะที่ปริมาณการส่งออกยังคงขยายตัวเป็นบวก

"หากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ นโยบายของทางการที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งปัจจัยด้านราคาไม่เปลี่ยนจากปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ การส่งออกในมูลค่าบาทมีโอกาสติดลบได้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้นมีผลกระทบต่อธุรกิจแตกต่างกันไป ธุรกิจที่กระทบมากส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนสูง และมีตลาดส่งออกหลักในสหรัฐฯ และยุโรป โดยสินค้าในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมาก เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป, รองเท้า, เครื่องหนัง, เฟอร์นิเจอร์, ผลิตภัณฑ์เซรามิก, ผัก-ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง, อัญมณีและเครื่องประดับ และไก่แปรรูป เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการแข็งค่าของเงินบาทส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ไทยมีสถานะการแข่งขันที่เสียเปรียบอยู่แล้วในด้านต้นทุนแรงงานเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่มีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น โดยขณะนี้หลายอุตสาหกรรมเริ่มประสบปัญหาในการรับคำสั่งซื้อใหม่ เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ราคา ณ เวลาส่งมอบในระยะหลายเดือนข้างหน้า

ขณะเดียวกัน แม้มีความพยายามขอเจรจาคู่ค้าในการปรับราคาสินค้าขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทุกกรณี เนื่องจากหากตั้งราคาซื้อขายใหม่ที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคาดการณ์อนาคตระยะสั้นที่ระดับ 29 บาท/ดอลลาร์ฯ ซึ่งสูงขึ้นประมาณ 10-13% เมื่อเทียบกับราคาซื้อขายสินค้าล็อตเดิมที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์ฯ คู่ค้าอาจไม่ยอมรับการปรับราคาดังกล่าว โดยในตลาดสินค้าที่มีการแข่งขันสูง ลูกค้ามีอำนาจต่อรองและสามารถเทียบราคากับคู่แข่ง เช่น จีนหรือเวียดนาม ซึ่งไม่มีแรงกดดันอัตราแลกเปลี่ยนมากเหมือนธุรกิจไทย

"การปรับตัวระยะสั้นจากการลดการรับคำสั่งซื้อของธุรกิจ อาจเริ่มจากการปรับลดกำลังการผลิต ลดการจ้างงาน ในขณะที่หากธุรกิจมองระยะยาวออกไป อาจเริ่มมีแผนการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งสถานการณ์ที่ดำเนินไปถึงจุดนั้นจะกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อเนื่องต่อการจ้างงานและธุรกิจเอสเอ็มอีที่อยู่ในซัพพลายเชนของธุรกิจในประเทศได้" ศูนย์วิจัยฯ ประเมิน

สำหรับแนวนโยบายในการป้องกันหรือผ่อนคลายปัญหาดังกล่าว อาจทำได้หลายแนวทาง คือ การผลักดันการส่งออกในระดับที่เข้มข้นขึ้น, การใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน, การใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบให้ผู้ส่งออกโดยเฉพาะ SMEs

โดยระยะยาวภาครัฐอาจจำเป็นต้องวางแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศที่มุ่งไปสู่โครงสร้างการผลิตในระดับที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น หรือมีการวิจัยและพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูง เพื่อลดความอ่อนไหวต่อประเด็นการแข่งขันด้านราคาและอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ