กฟผ.เตรียมใช้ประโยชน์ช่วงบาทแข็ง เร่งลงทุนในตปท.กว่า 60,000 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 22, 2010 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเร่งลงทุนในช่วงที่เงินบาทแข็งค่านั้น กฟผ.ได้รับการประสานงานจากกระทรวงการคลังแล้ว โดยคาดว่า กฟผ.และบริษัทในเครือ คือ บมจ.ผลิตไฟฟ้า, บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จะมีโครงการที่สามารถเร่งรัดการลงทุนได้ เช่น โครงการลงทุนในโรงไฟฟ้า, โครงการก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้า และการลงทุนและการซื้อกิจการด้านพลังงานในต่างประเทศ รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 60,000 ล้านบาท

สำหรับ กฟผ.จะเร่งรัดการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าวังน้อยเครื่องที่ 4 จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าจะนะ โรงที่ 2 จ.สงขลา ซึ่งทั้ง 2 โรงจะมีกำลังการผลิตประมาณ 700 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนโรงละ 20,000 ล้านบาท ตามแผนจะต้องสร้างเสร็จในปลายปี 57 แต่ กฟผ.จะเร่งรัดให้เร็วกว่าแผนประมาณ 3 เดือน

นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนสายส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับการรับซื้อไฟฟ้าในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP) ระบบโคเจเนอเรชั่นจำนวน 2,0 00 เมกะวัตต์ และโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้ารองรับโครงการหงสาลิกไนต์ ในประเทศลาว โครงการละประมาณ 10,000 ล้านบาท

ส่วนการลงทุนของบริษัทในเครือนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนและการเจรจาเพื่อซื้อโครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ซึ่งหากสามารถเจรจาตกลงได้ก็จะสามารถเร่งรัดการลงทุนได้เพิ่มขึ้น โดยแต่ละโครงการที่เจรจาอยู่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท โดยทั้งหมดนี้หากสามารถเร่งรัดการลงทุนได้จะช่วยให้ได้รับประโยชน์จากภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เพราะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างถูกลง ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังยังส่งเสริมให้บริษัทในเครือกฟผ.เพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นด้วย

นายสุทัศน์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมหนักในปัจจุบันว่า เขื่อนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ที่มีอยู่กว่า 10 เขื่อน ยังมีความสามารถในการรองรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกมาก แต่มีบางเขื่อนที่อยู่ในภาคอีสาน เช่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ขอนแก่น, เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ขณะนี้ไม่สามารถรับน้ำเพิ่มได้อีก แต่ก็ใช้วิธีทยอยปล่อยน้ำออกมาตามคำสั่งของกรมชลประทาน

โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนพลังงานน้ำทั้งหมดของ กฟผ.มีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ไม่ถึง 1,000 เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ