สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (22 ต.ค.) โดยนักลงทุนชะลอการขายดอลลาร์ เพื่อรอดูผลการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากกลุ่มจี 20 ที่ประเทศเกาหลีใต้ในช่วงสุดสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าที่ประชุมจะไม่สามารถตกลงกันได้ หลังจากที่ นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐ ได้เสนอให้ประเทศสมาชิกจำกัดยอดเกินดุลหรือขาดดุลบัญชีเดินสะพัดให้อยู่ที่ 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธจากญี่ปุ่นและเยอรมนี
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐทรงตัวที่ระดับ 81.340 เยน และแข็งค่าขึ้น 0.08% แตะที่ 1.0272 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.0264 ดอลลาร์แคนาดา และพุ่งขึ้น 1.11% แตะ 0.9781 ฟรังค์สวิส จากระดับ 0.9674 ฟรังค์สวิส
ค่าเงินยูโรปรับตัวขึ้น 0.14% ที่ระดับ 1.3940 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.3920 ดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่า 0.17% แตะที่ 113.41 เยน จากระดับ 113.22 เยนในวันพฤหัสบดี โดยเงินยูโรเคลื่อนไหวผันผวนระหว่าง 1.385 -1.395 ดอลลาร์ เกือบตลอดช่วงการซื้อขาย
ส่วนเงินปอนด์ขยับลง 0.08% ที่ระดับ 1.5694 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5706 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับตัวขึ้น 0.28% ที่ระดับ 0.9807 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 0.9780 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น 0.13% แตะที่ 0.7463 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7453 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ สถานการณ์ความตึงเครียดทั่วโลกเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนได้ทวีความรุนแรงขึ้นในระยะนี้ เนื่องจากหลายประเทศพยายามลดค่าเงินของตนเพื่อความได้เปรียบทางการค้าเหนือคู่แข่ง โดยเงินดอลลาร์ร่วงลงรุนแรงในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เพราะนักลงทุนคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเร็วๆ นี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจของสหรัฐ
นักลงทุนคาดว่า เฟดจะเริ่มซื้อพันธบัตรเพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง ซึ่งเป็นความพยายามหนึ่งในการกระตุ้นการกู้ยืมและการใช้จ่าย รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำอาจสร้างแรงกดดันให้ดอลลาร์
ประเทศอื่นๆ หลายประเทศมีปฏิกริยาต่อการร่วงลงของดอลลาร์ ด้วยการปล่อยให้ค่าเงินของตนอ่อนค่าลงด้วย ขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เงินหยวนของจีนอ่อนค่าเกินไป ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าอาจเกิดสงครามค่าเงินขึ้นจากการที่ประเทศต่างๆ แข่งกันลดค่าเงินของตน ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าและขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
รายงานข่าวระบุว่า รมว.คลังสหรัฐได้เสนอให้ประเทศที่มียอดเกินดุลการค้าสูงลดตัวเลขดังกล่าวลง แต่ได้รับการคัดค้านจากประเทศอื่น นอกจากนี้ เขายังได้เรียกร้องให้ผู้ส่งออกรายใหญ่ปล่อยให้ค่าเงินของตนปรับตัวขึ้นอย่างสอดคล้องกัน พร้อมกับขอให้ประเทศต่างๆ อย่าพยายามลดค่าเงินของตนเพื่อความได้เปรียบทางการค้า