ที่ประชุมจี20 เตรียมออกแถลงการณ์ให้คำมั่นหลีกเลี่ยงสงครามค่าเงิน

ข่าวต่างประเทศ Saturday October 23, 2010 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 ประเทศ หรือจี20 จะให้คำมั่นว่าจะหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันลดค่าเงิน ในการปิดการประชุมที่เมืองเกียงจู ประเทศเกาหลีใต้ วันนี้

แหล่งข่าวเผยว่า ที่ประชุมจะให้สัญญาว่าจะดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดมากขึ้น โดยร่างแถลงการณ์ของการประชุมระบุว่า ประเทศสมาชิกจะหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันลดค่าเงินของตนเอง

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การประชุมดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดที่ประเทศต่างๆ พยายามแข่งกันลดค่าเงินของตนเองหรือควบคุมกระแสเงินทุนไหลเข้าเพื่อส่งเสริมการส่งออกและการจ้างงาน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจนำไปสู่การเกิดสงครามค่าเงิน และจะยิ่งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางอยู่แล้ว ชะลอตัวลงไปอีก

ทั้งนี้ ที่ประชุมกำลังพิจารณาเรื่องการปรับสมดุลการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกผ่านทางการใช่มาตรการต่างๆ อาทิ การกำหนดเพดานยอดเกินดุลหรือขาดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ระดับใดระดับหนึ่ง

เมื่อวันศุกร์ สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำจี20 ที่กรุงโซลในเดือนหน้า ได้ร่วมกันเสนอต่อที่ประชุมว่า ประเทศสมาชิกควรจำกัดยอดขาดดุลหรือเกินดุลไว้ที่ 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภายในปี 2558

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ซึ่งจะเผยแพร่ภายหลังปิดการประชุมในวันนี้ จะไม่ระบุตัวเลขที่เฉพาะเจาะจง เนื่องจากอาจถูกคัดค้านจากหลายประเทศ อาทิ จีน ซึ่งมียอดเกินดุลการค้ามหาศาล และพยายามปกป้องค่าเงินหยวนของตนไม่ให้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

หลายฝ่ายมองว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีเจตนาที่จะบีบให้จีนกำหนดกรอบความร่วมมือในระดับพหุภาคี

ข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยโดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนต่อจีดีพี มีสัดส่วนอยู่ที่ 6.0% ในปี 2552 และคาดว่าจะขยายจาก 4.7% ปีนี้ เป็น 7.8% ในปี 2558

นอกจากจีนแล้ว ประเทศที่มียอดเกินดุลสูงอย่าง ญี่ปุ่นและเยอรมนี ซึ่งถูกเรียกร้องให้หันมามุ่งส่งเสริมความต้องการในประเทศมากกว่าพึ่งพาการส่งออก ก็ได้แสดงความลังเลต่อข้อเสนอของสหรัฐอเมริกา

นายโยชิฮิโกะ โนดะ รมว.คลังญี่ปุ่น กล่าวกับผู้สื่อข่าววานนี้ว่า ญี่ปุ่นอาจยอมรับตัวเลข 4% ตราบใดที่ตัวเลขดังกล่าวถูกใช้เพื่อการอ้างอิงเท่านั้น ซึ่งเป็นการบอกกลายๆว่า ไม่ควรมีการระบุตัวเลขเป้าหมายในแถลงการณ์

ด้านไรเนอร์ บรูเอเดอร์เล รมว.เศรษฐกิจและเทคโนโลยีของเยอรมนี กล่าวในวันเดียวกันว่า การกำหนดเป้าหมายไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องในมุมมองของเยอรมนี

ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เดินหน้ากดดันจีนมาโดยตลอดให้ปล่อยเงินหยวนแข็งค่าเร็วขึ้น และหยุดใช้มาตรการที่ไม่เป็นธรรมสนับสนุนกลุ่มผู้ส่งออกของตน ด้วยการทำให้ค่าเงินหยวนมีราคาถูก

ขณะที่ จีน บราซิล และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากและการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณโดยสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป ทำให้มีกระแสเงินทุนหลั่งไหลเข้าไปสร้างความปั่นป่วนในตลาดเกิดใหม่ และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าเงินของประเทศเหล่านี้แข็งค่าขึ้นมาก

นอกจากนี้ ที่ประชุมจี20 ยังพยายามผลักดันความคืบหน้าในการปฏิรูปกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีสิทธิมีเสียงในองค์กรเพิ่มขึ้น และจะยืนยันถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างการตรวจสอบและกำกับดูแลการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ