ADB คาดปีนี้ศก.ไทยโตถึง 7% บาทแข็ง-น้ำท่วมไม่กระทบ แต่ปีหน้าชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 25, 2010 09:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ลักษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ADB จะคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวที่ 7% โดยได้รวมผลกระทบการแข็งค่าของเงินบาทไว้แล้ว เพราะประเมินว่าประเด็นของภาคส่งออกอยู่ที่การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่าค่าเงิน และเชื่อว่าแม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อจีดีพีมากนัก

แต่ในไตรมาส 1/54 คงต้องดูผลผลิตภาคเกษตรเพื่อประเมินผลกระทบอีกครั้ง ทั้งนี้ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังเริ่มชะลอตัวตามตลาดต่างประเทศ อาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า จึงคาดว่าเศรษฐกิจปี 54 จะขยายตัวที่ 4.5%

"ตอนนี้เป็นช่วงที่ต้องจับตาและเฝ้าระวัง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังเปราะบางและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะแผ่วลงในปี 54 และแม้ไทยจะมีปัญหาภายในประเทศจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ ADB คาดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้มาก เพราะน้ำหนักยังอยู่ที่ความเสี่ยงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรปที่จะครบกำหนดชำระหนี้คืนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า"

น.ส.ลักษมณกล่าวว่า ไทยควรวางนโยบายในทิศทางเดียวกับอินโดนีเชีย และฟิลิปปินส์ เพราะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ต่างกันมาก ยังพบว่ามีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง

แต่ ADB ยังไม่เห็นแรงกดดันราคาสินทรัพย์ในไทยและยังคงติดตามปัญหาฟองสบู่สินทรัพย์ที่อาจจะลุกลามไปยังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อีกหรือไม่ หลังจากมีสัญญาณฟองสบู่ในจีน แต่เชื่อว่าทางการจีนจะควบคุมไม่ให้เป็นปัญหาต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ และคาดว่าจะไม่เป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ได้ว่าราคาสินทรัพย์ในไทยสูงขึ้นผิดปกติ

"ไม่คิดว่าเงินทุนที่ไหลเข้าเป็นเรื่องของการโจมตีค่าเงินบาทเพราะเงินทุนที่ไหลเข้ามาจำนวนมากในตลาดตราสารหนี้มาจากผลตอบแทนและมีความผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้น แต่ก็เป็นการเก็งกำไรปกติไม่ใช่เก็งกำไรเพื่อโจมตีค่าเงินแต่ปัญหาเงินทุนที่ไหลเข้าในไทยและประเทศภูมิภาคเนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ยังสูง แต่ที่สุดแล้วทุกประเทศก็ได้รับแรงกดดัน"

น.ส.ลักษมณกล่าวว่า ธนาคารกลางจึงต้องพิจารณาให้การดำเนินนโยบายการเงินให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะแม้ค่าเงินบาทจะปรับแข็งค่าแต่ทุกสกุลในภูมิภาคก็ปรับแข็งค่าเช่นเดียวกันก็จะไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งถูกโจมตีค่าเงิน และถ้าดูค่าเงินอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามก็แข็งค่าเหมือนกันหมด แต่ไทยควรเพิ่มมูลค่าสินค้าเพราะเป็นความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ